‘ศักดิ์สยาม’ ลุกแจงอภิปรายไม่ไว้วางใจ 6 ประเด็น ‘คมนาคม’ ย้ำทำงาน 4 ปี ‘ซื่อสัตย์-สุจริต-โปร่งใส’ ดัน 79 นโยบาย 157 โครงการเป็นรูปธรรม

ศักดิ์สยามลุกแจง 6 ประเด็นคมนาคม” ในการอภิปรายทั่วไปฯ มาตรา 152 แบบไม่ลงมติ ยันตลอด 4 ปี ทำงานซื่อสัตย์สุจริตโปร่งใสพร้อมดัน 79 นโยบาย 157 โครงการเป็นรูปธรรม สะท้อนผลงานดีตลอดช่วงเวลาดำรงตำแหน่ง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขอขอบคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (..) ทุกท่าน ที่ได้ให้ความสนใจในการดำเนินการของกระทรวงคมนาคม โดยยืนยันว่า ได้บริหารกระทรวงคมนาคมด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและโปร่งใสมาตลอด รวมทั้งได้กำหนดเป็นนโยบายให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา ตนได้ผลักดันการดำเนินการสำคัญจนมีผลเป็นรูปธรรมถึง 79 นโยบาย 157 โครงการ ซึ่งสิ่งที่สะท้อนถึงผลงานของกระทรวงคมนาคมตลอดช่วงเวลาดังกล่าว ได้เป็นอย่างดี คือ ผลการจัดอันดับLogistic Performance Index โดยธนาคารโลก ที่ไทยได้รับการจัดอันดับสูงขึ้นกว่าเดิมถึง 13 อันดับ โดยปรับจากอันดับที่ 45 มาเป็นอันดับที่ 32

สำหรับประเด็นที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายพาดพิงถึงการดำเนินการของกระทรวงคมนาคมนั้น ขออภิปรายชี้แจง ดังนี้ 1.ประเด็นการต่อชยายสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 และทางพิเศษสายบางปะอินปากเกร็ จากการสอบถามการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มูลหนี้ที่มีการอภิปรายว่า หากแพ้คดีกับเอกชนผู้รับสัมปทาน จะมีมูลค่าสูงถึงประมาณ 3 แสนล้านบาทนั้น

ทั้งนี้ เป็นมูลค่าที่สูงกว่าข้อเท็จจริง ที่จะมีมูลหนี้จำนวน 1.37 แสนล้านบาท และ กทพ. ได้เจรจาต่อรองจนเหลือ 7.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นฐานที่เอามาคำนวณขยายระยะเวลาสัญญา นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มเงื่อนไขให้ประชาชนขึ้นทางด่วนฟรี ในวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยจะมีประชาชนได้รับประโยชน์ เป็นจำนวน 19 วันต่อปี หรือ 300 วัน ตลอดระยะเวลาสัมปทาน คิดเป็นมูลค่า 10,867.50 ล้านบาท

ส่วนตัวเลขการขาดทุนที่มีการอภิปรายว่าจะมีการขาดทุน 65,000 ล้านบาทนั้น เป็นตัวเลขทางบัญชีเท่านั้น สถานะทางการเงินในภาพรวมที่แท้จริงยังมีผลประกอบการที่กำไรทุกปี โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทยสามารถนำเงินส่งรัฐปีละประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท มาอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายนี้ กรณีการขยายสัญญาตามมติ ครม.ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง ที่ยังไม่ได้มีข้อสรุป

2.ประเด็นการไม่บันทึกบัญชีที่ดินเขากระโดง ในงบการเงินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยจากการตรวจสอบกับการรถไฟแห่งประเทศไทย การบันทึกบัญชีที่ดินในงบการเงิน จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 เรื่องที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ ซึ่งจะต้องเป็นที่ดินที่ไม่มีปัญหาการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ ดังนั้น ในกรณีที่ดินบริเวณเขากระโดง จึงได้บันทึกเฉพาะที่ดิน จำนวน 69.19 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินเส้นทางเดินรถแยกจากสถานีรถไฟบุรีรัมย์เข้าไปที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณเขากระโดง ซึ่งไม่มีปัญหาการโต้แย้งกรรมสิทธิ มีข้อมูลครบถ้วน ชัดเจน

สำหรับพื้นที่ที่เหลือในจำนวน 5,083 ไร่ ที่ยังไม่ได้บันทึกทะเบียนสินทรัพย์นั้น เป็นที่ดินที่ยังมีปัญหาการโต้แย้งกรรมสิทธิ และอยู่ระหว่างกระบวนการพิสูจน์สิทธิ ทำให้ไม่สามารถลงบันทึกในทะเบียนสินทรัพย์ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16 ได้ ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ฟ้องเพื่อพิสูจน์สิทธิต่อศาลปกครองกลางไปแล้ว ทั้งนี้ ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมไม่เคยเข้าไปแทรกแซงการดำเนินการของ รฟท.แต่อย่างใด

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า 3.ประเด็นการเตรียมการรองรับผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น ตนได้ลงพื้นที่ตรวจสภาพปัญหาความแออัดคับคั่งของผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมมอบนโยบายการแก้ไขปัญหาโดยได้เตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวในด้านต่าง รวมถึงได้เปิดให้บริการจุดเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ และจุดโหลดกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ บริเวณโถงผู้โดยสารขาออก ชั้น 4 อาคารผู้โดยสาร ทสภ.เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความแออัดคับคั่งบริเวณเคาน์เตอร์เช็กอิน

ทั้งนี้ สถานการณ์การให้บริการในปัจจุบันดีขึ้นอย่างมาก รวมทั้ง ได้แก้ไขปัญหาความล่าช้าในการรอสัมภาระในระยะเร่งด่วน โดยให้บริษัทผู้ให้บริการภาคพื้น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้ง 2 ราย มีการเพิ่มจำนวนบุคลากรและอุปกรณ์ให้สอดคล้องกับจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากการเปิดประเทศ รวมทั้ง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ได้ขยายระยะเวลาให้บางสายการบินบริการภาคพื้นด้วยตนเอง เป็นการชั่วคราว

สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ทอท. อยู่ระหว่างการสรรหาผู้ให้บริการภาคพื้นเพิ่มเติม เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบิน จำนวนผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

4.ประเด็นการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นไปตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ..2562 ที่คณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้อนุมัติให้ดำเนินโครงการร่วมทุนหลังจากนั้น หน่วยงานเจ้าของโครงการ และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็ดำเนินการคัดเลือกเอกชนตามหลักกฎหมายกฎระเบียบ และหลักธรรมาภิบาลตามขั้นตอนที่กำหนดในกฎหมาย จนได้ผลการคัดเลือกเอกชน รวมถึงส่งร่างเอกสารให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบ

หลังจากนั้น หน่วยงานเจ้าของโครงการก็จะส่งร่างสัญญา และเงื่อนไขสำคัญของสัญญาร่วมลงทุนต่อ รัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ก่อนนำเสนอ ครม. ต่อไป ซึ่งจะเห็นได้ว่า รัฐมนตรีไม่มีอำนาจและหน้าที่ในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนหรือกำหนดเงื่อนไข ซึ่งปัจจุบันการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างรอคำพิพากษาของศาลให้ถึงที่สุดก่อน จึงจะดำเนินการในขั้นต่อไป

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า 5.ประเด็นความล่าช้าในการดำเนินโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 6 (M6) สายบางปะอินนครราชสีมา โดยตนได้สั่งการให้กรมทางหลวง (ทล.) เร่งรัดการก่อสร้างอย่างเต็มที่ โดยเน้นย้ำถึงคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งคาดว่าปลายปี 2566 จะสามารถเปิดทดลองวิ่งช่วงปากช่องถึงปลายทางที่ทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ยาวต่อเนื่องเป็นระยะทางยาวประมาณ 80 กิโลเมตร (กม.)

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้เอกชนคู่สัญญาร่วมลงทุน การดำเนินงานและบำรุงรักษา เพื่อเร่งรัดงานติดตั้งระบบต่างๆ เช่น ระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง M-FLOW ระบบบริหารควบคุมการจราจร โดยจะเริ่มทดสอบระบบ พร้อมทยอยเปิดทดลองให้บริการได้ในปี 2567 และเปิดใช้งานอย่างเต็มรูปแบบในปี 2568 ต่อไป

6.ประเด็นสัญญาระบบตรวจบัตรโดยสารขึ้นเครื่องด้วยตัวเอง (CUPPS) ของ ทอท. โดยจากการตรวจสอบกับ ทอท. พบว่า ได้ดำเนินการเปรียบเทียบกรณีการลงทุนเองกับการว่าจ้างเอกชน พบว่าการให้เอกชนลงทุนจะประหยัดงบประมาณได้ 2,048 ล้านบาท ส่วนการประกันปริมาณผู้โดยสารที่ร้อยละ 90 นั้น เกิดขึ้นโดยการประมาณการก่อนการเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งตนจะรับไปแจ้งให้ ทอท. เจรจากับเอกชนโดยการให้เอกชนรับค่าจ้างเท่าปริมาณผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริง โดยกรณีที่จะมีการเยียวยาจะต้องดำเนินการตามหลักการตามมติ ครม.ด้วย

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวต่ออีกว่า ได้เน้นย้ำอีกครั้งว่าการบริหารกระทรวงคมนาคมตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปี ที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ มติ ครม. และหลักธรรมาภิบาลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์จนได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และขอยืนยันว่าจะผลักดันการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนต่อไป