NEX บุกตลาดรถรับ-ส่งพนักงาน ประเดิมส่งมอบล็อตแรก 5 คันเจ้าแรกในไทย ประเมินผล 3 เดือน รับเทรนด์ลดโลกร้อน

NEX ส่งมอบมินิบัสไฟฟ้าให้ ATP30 ล็อตแรก 5 คัน นำร่องรับส่งพนักงานเจ้าแรกในไทย หนุนลดใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรับเทรนด์ลดโลกร้อน พร้อมประเมินการใช้งาน 3 เดือน ก่อนขยายผลกลุ่มลูกค้าโรงงานเขตนิคมอุตสาหกรรมที่จ่อคิวรอใช้บริการ

นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX เปิดเผยว่า จากกระแสความต้องการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี) ที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดบริษัทฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ส่งมอบรถมินิบัสไฟฟ้าล็อตแรก จำนวน 5 คัน ให้กับบริษัท เอทีพี 30 จำกัด (มหาชน) หรือ ATP30 ผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการรถรับส่งพนักงานจากแหล่งที่พักอาศัยในเขตชุมชนไปยังโรงงานอุตสาหกรรมหรือสถานประกอบการ โดยเฉพาะรอบเขตนิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก (Eastern Seaboard)

ทั้งนี้ นับเป็นการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ และในระยะยาวยังจะช่วยลดต้นทุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงรวมถึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษารถ ตลอดจนช่วยลดมลภาวะทางอากาศ และสอดคล้องกับทิศทางนโยบายของภาครัฐที่มับส่งการสนับสนุนให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon Neutrality) ด้วย

นายคณิสสร์ กล่าวอีกว่า สำหรับรถมินิบัสไฟฟ้าดังกล่าวเป็นรถขนาด 20 ที่นั่ง มีความยาว 7.3 เมตรกว้าง 2.16 เมตรและสูง 2.99 เมตร รัศมีวงเลี้ยงแคบสุด 8 เมตร น้ำหนักรถเปล่า 6,785 กิโลกรัม สามารถบรรทุกน้ำหนักรวม 9,000 กิโลกรัม ความเร็วสูงสุด 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อัตราความเร็วที่ประหยัดพลังงาน 50-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแบตเตอรี่ เป็นลิเธียมไอออน ฟอสเฟต ความจุแบตเตอรี่คือ ขนาด 114.5 kWh วิ่งได้ 180-200 กิโลเมตร ต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง

ด้านนายปิยะ เตชากูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอทีพี 30 จำกัด (มหาชน) หรือ ATP30 กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯได้ทำการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการรถบัสไฟฟ้าแทนการใช้รถน้ำมันเชื้อเพลิง พบว่าสามารถช่วยลดต้นทุนพลังงานเชื้อเพลิงลงได้ประมาณ 65-70%  ดังนั้น บริษัทฯ จึงตัดสินใจนำรถมินิบัสดังกล่าวไปใช้นำร่องในการให้บริการรับส่งพนักงานของโรงงานรอบเขตนิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเป็นเจ้าแรกในประเทศไทย

จากนั้นจะทำการประเมินเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อเก็บรายละเอียดทุกด้านจากการใช้งานจริง เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการนำเสนอกลุ่มผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความประสงค์จะทยอยเปลี่ยนรถรับส่งพนักงานจากรถที่ใช้น้ำมันมาเป็นรถไฟฟ้าแทนในอนาคต เนื่องจากเวลานี้ลูกค้าของบริษัทมีแนวโน้มที่ต้องการเปลี่ยนจากรถน้ำมัน มาเป็นรถไฟฟ้ามากขึ้น โดยมีลูกค้าที่ให้ความสนใจอยู่ระหว่างขอใช้บริการหลายราย บริษัทจึงต้องเตรียมจัดหารถไฟฟ้าสำหรับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการให้บริการ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และถือเป็นการขยายฐานรายได้ของบริษัทให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งในอนาคต

ขณะเดียวกัน จากข้อมูลการทดสอบในเบื้องต้น ยังพบว่าการใช้รถบัสไฟฟ้าจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียงหนึ่งในสาม เมื่อเทียบกับรถบัสที่ใช้น้ำมันและเมื่อใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์การปล่อยก๊าซจะเป็นศูนย์ซึ่งบริษัทฯ ได้ดำเนินการติดตั้งระบบโซล่ารูฟไปก่อนหน้านี้แล้ว คาดว่าจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในการเดินรถฟลีตนี้ถึง 50% และคาดว่าจะสามารถขยายกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นในอนาคต

นายปิยะ กล่าวต่อว่า การดำเนินธุรกิจรถรับส่งทำให้บริษัทฯต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในปริมาณที่ค่อนข้างมาก ก่อให้เกิดมลภาวะต่อโลก การเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าแทนนั้น ในแง่ของธุรกิจถือว่าสามารถที่จะช่วยลดต้นทุนได้ในระยะยาวและเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการรณรงค์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

อีกทั้ง ยังเป็นแรงผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมตระหนักถึงความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งประเทศไทยมีโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตที่อิงการส่งออกจำนวนมาก นอกจากการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตแล้ว การรับส่งพนักงานก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยของโรงงานอุตสาหกรรมเช่นเดียวกัน