‘คมนาคม’ วางเป้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ‘บก-น้ำ-ราง-อากาศ’ ช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ 30% พร้อมเป็น ‘เครื่องจักรที่ 4’ สร้างรายได้หลักให้ประเทศ

คมนาคมกางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมโครงข่าย 4 มิติบกน้ำรางอากาศวางเป้าหมายช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ 30% ปูทางเป็นเครื่องจักรตัวที่ 4 สร้างรายได้หลักให้กับประเทศ เพิ่มความมั่นใจดึงดูดนักลงทุน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในการปาฐกถา หัวข้อแผนคมนาคมกับการบูรณาการการเชื่อมโยงโครงข่ายในพิธีเปิดนิทรรศการ “Transport United for Happy Journey : คมนาคมรวมเป็นหนึ่ง เพื่อการเดินทางแห่งความสุขวันนี้ (15 .. 2565) ว่า กระทรวงคมนาคมเป็นกระทรวงหลักที่รับผิดชอบดูแลการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคของประเทศ ครอบคลุมใน 4 มิติ ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ

ทั้งนี้ แม้ว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 แต่การลงทุนในโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายคมนาคมของประเทศ ไม่ได้หยุดหรือสะดุดลง เพราะเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเตรียมการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ รองรับการค้า การลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทาง และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะอย่างเท่าเทียม

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมนั้น เพื่อช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ด้านการขนส่ง โดยกระทรวงคมนาคมมีเป้าหมายในการลดต้นทุนโลจิสติกส์ลง 30% ด้วยการนำระบบเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ พร้อมทั้งบูรณาการกับหน่วยงานอื่น และการเชื่อมต่อการขนส่งอย่างไร้รอยต่อจากทางบกมาสู่ระบบรางและส่งต่อไปยังขนส่งทางน้ำด้วย

ทั้งนี้ ระบบโลจิสติกส์ ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยในอนาคตจะเป็นเครื่องจักรตัวที่ 4 ที่ช่วยขับเคลื่อนและสร้างรายได้ให้กับประเทศ จากที่ในปัจจุบันรายได้หลักของประเทศมาจาก 3 ด้าน คือ1.การลงทุนของภาครัฐ 2.การลงทุนของภาคเอกชน และ 3.การท่องเที่ยว ประกอบกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคมในขณะนี้ จะเป็นอีก 1 ปัจจัยที่จะช่วยจูงใจและสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนมาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นในอนาคตด้วย

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ตลอดระยะ 2 ปีกว่าที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคู่ขนานกัน ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อให้เกิดโครงข่ายคมนาคมที่สมบูรณ์ในประเทศไทย ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนไทย และสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจไทย โดยการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางบกนั้น ได้ยกระดับการเดินทางให้มีความปลอดภัย เชื่อมโยงโครงข่ายทั่วไทย และส่งเสริมเศรษฐกิจทุกภูมิภาค

ทั้งนี้ ได้ดำเนินการเร่งรัดก่อสร้างหลายโครงการ เช่น ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอินนครราชสีมา, สายบางใหญ่กาญจนบุรี และสายบางขุนเทียนบ้านแพ้ว รวมถึงทางพิเศษ สายพระราม 3-ดาวคะนองวงแหวนรอบนอก อีกทั้งมีแผนดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามเกาะลันตา .กระบี่ และสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา พัฒนาโครงข่ายร่วมกัน ระหว่างทางรถไฟกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ภายใต้กรอบแผนแม่บทMR-MAP

ส่วนการขนส่งทางน้ำนั้น มีการเร่งพัฒนาท่าเทียบเรือ ทั้งท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ และท่าเรือน้ำลึก เช่น การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F รวมถึงผลักดันการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันให้กับกองเรือพาณิชย์ไทย และการพัฒนาโครงการสะพานเศรษฐกิจ เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทยอันดามัน (Landbridge ชุมพรระนอง)

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ด้านการขนส่งระบบราง ในอนาคตจะพลิกโฉมให้เป็นแกนหลักของการเดินทาง และการขนส่งเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ ด้วยการเร่งรัดพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล พร้อมเปิดให้บริการสถานีกลางบางซื่อ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางระบบรางแห่งใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ยกระดับรถไฟไทยให้เป็นทางคู่ทั่วประเทศ รวมถึงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port)

ขณะที่การคมนาคมทางอากาศ กระทรวงคมนาคมได้เพิ่มขีดความสามารถการให้บริการของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานอู่ตะเภา และท่าอากาศยานภูเก็ต พร้อมกับการพัฒนาบุคลากรด้านการบิน และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์ซ่อมและบำรุงอากาศยานมาตรฐานสากล เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง ผลักดันให้เกิดการเพิ่มมูลค่า และเกิดการค้า การลงทุนให้กับประเทศไทย

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมคำนึงถึงความสะดวก และความปลอดภัยในการเดินทาง เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ ลดการสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน ด้วยการพัฒนาระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง แบบไม่มีไม้กั้น (M-FLOW) อีกทั้งยังมีการขับเคลื่อนนโยบาย นำรถเมล์ไฟฟ้า และเรือโดยสารประจำทาง ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามาให้บริการประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น และช่วยลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมด้วย