รอเลย! ‘การรถไฟ’ เตรียมเปิดวิ่ง ‘รถไฟ KIHA 183’ อิมพอร์ตจากญี่ปุ่น เริ่มเปิดหวูดเส้นทางระยะ 400 กม.ภายใน ต.ค.นี้ พร้อมลุ้นรับเพิ่มอีก 20 คันจาก JR EAST

“การรถไฟฯ” เผยโฉมใหม่รถดีเซลรางปรับอากาศ “KIHA 183” อิมพอร์ตจากแดนปลาดิบ ยันคุ้มค่า-ช่วยเซฟงบคันละ 80-100 ล้าน อายุใช้งาน 15-20 ปี เตรียมเปิดให้บริการเส้นทางไม่เกิน 400 กม. ภายใน ต.ค.นี้ เร่งปรับปรุงครบ 17 คัน ก่อนเปิดหวูดในปีหน้า พร้อมเตรียมตั้งงบปี 66 กว่า 272 ล้าน ลุยซ่อมใหญ่-ทดแทนขบวนเดิม เผยจ่อรับมอบเพิ่มอีก 20 คันจาก JR EAST ส่งเจ้าหน้าที่บุกยลโฉม-รอตั้งงบค่าขนส่ง

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยในคราวเยี่ยมชมความก้าวหน้าการปรับปรุงรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 พร้อมกับทดลองเปิดเดินรถจากสถานีมักกะสัน-ฉะเชิงเทรา-กรุงเทพฯ วันนี้ (6 ก.ย. 2565) ว่า ตามที่การรถไฟฯ ได้รับมอบรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 จากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR HOKKAIDO) ประเทศญี่ปุ่น มาจำนวน 17 คัน แบ่งเป็น แบบที่มีห้องคนขับ (KIHA183) รองรับผู้โดยสารได้ 40 ที่นั่ง จำนวน 9 คัน และชนิดที่ไม่มีห้องคนขับ (KIHA182) รองรับผู้โดยสารได้ 68 ที่นั่ง จำนวน 8 คัน

ทั้งนี้ การรับมอบรถดีเซลรางฯ ดังกล่าว การรถไฟฯ ไม่เสียค่าใช้จ่าย เพียงแต่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนของการดำเนินการขนย้าย 17 คัน จำนวนเงินทั้งสิ้น 42.5 ล้านบาท หรือคันละ 2.5 ล้านบาท และได้มีการปรับขนาดความกว้างของล้อจาก 1.067 เมตร ให้เป็นขนาด 1 เมตร ตามมาตรฐานทางรถไฟไทย

โดยมีการจัดซื้อวัสดุและอุปกรณ์เพื่อใช้ในการดัดแปลงล้อ เฉลี่ยคันละ 200,000 บาท อย่างไรก็ตาม การดัดแปลงมีความคุ้มค่า มีอายุการใช้งานประมาณ 15-20 ปี อีกทั้งสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับการรถไฟฯ ได้มากกว่าการซื้อตู้โดยสารใหม่สูงถึง 400 เท่า เพราะหากจัดซื้อตู้โดยสารใหม่จะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง คันละ 80-100 ล้านบาท

นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า ล่าสุด การรถไฟฯ โดยฝ่ายการช่างกล ได้ดำเนินการปรับปรุงรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น KIHA 183 ชุดแรก จำนวน 4 คัน ปัจจุบันได้ปรับปรุงแล้วเสร็จ จำนวน 3 คัน ส่วนอีก 1 คัน อยู่ระหว่างขั้นตอนการทำสี คาดว่า จะแล้วเสร็จภายใน ก.ย. 2565 จากนั้นได้ทำการทดสอบสมรรถนะของรถ โดยวางแผนปรับปรุงรถเป็น 4 ชุดๆ ละ 4 คัน พร้อมกับได้นำมาเปิดทดลองเดินรถจากเส้นทางสถานีมักกะสัน-ฉะเชิงเทรา-กรุงเทพเป็นครั้งแรกในวันนี้ ซึ่งสามารถใช้ความเร็วสูงสุดได้ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ทั้งนี้ ภายหลังจากปรับปรุงขบวนรถ KIHA 183 เสร็จครบถ้วนในระยะแรกมจำนวน 4 คัน การรถไฟฯ จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เพื่อกำหนดเส้นทางให้บริการ โดยจะเริ่มให้บริการในเส้นทางระยะสั้น แบบวันเดย์ทริป ระยะทางไม่เกิน 400 กิโลเมตร (กม.) เช่น กรุงเทพ-นครสวรรค์, กรุงเทพ-กาญจนบุรี, กรุงเทพ-หัวหิน, กรุงเทพ-เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นต้น

นายนิรุฒ กล่าวอีกว่า อาจนำไปให้บริการในขบวนสำหรับเทศกาลในวันสำคัญ หรือให้บริการเช่าเหมาขบวนก่อน เพื่อตอบสนองความต้องการและเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการสูงสุด ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ใน ต.ค. 2565 ในราคาโดยสารปกติ อย่างไรก็ตาม หลังจากทดสอบประสิทธิภาพขบวนรถชุดแรกแล้วเสร็จ การรถไฟฯ จะเร่งปรับปรุงรถคันอื่นที่เหลือ คาดว่า จะปรับปรุงแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบในช่วงปลายปี 2566

ขณะเดียวกัน ในอนาคตการรถไฟฯ มีแผนบูรณะขบวนรถ KIHA 183 จำนวน 17 คัน โดยตั้งงบประมาณปี 2566 วงเงิน 272 ล้านบาท (ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี) ซึ่งจะเป็นการซ่อมใหญ่ อาทิ เปลี่ยนเครื่องยนต์ เปลี่ยนเกียร์ เนื่องจากขบวนรถดังกล่าว มีงานใช้งานมากว่า 30 ปี อาจจะมีปัญหาเรื่องมลพิษ และสิ้นเปลืองน้ำมัน ทั้งนี้ เพื่อนำไปทดแทนขบวนรถไฟดีเซลรางในบางขบวน ในระหว่างรอการจัดหารถจักรดีเซลราง จำนวน 184 คันด้วย

นายนิรุฒ กล่าวต่ออีกว่า รถไฟไทยกับญี่ปุ่น ถือว่ามีความสัมพันธ์ที่ดี และยาวนานมาแล้วเกือบ 20 ปี หลังจากเคยได้รับมอบขบวนรถไฟจาก JR WEST ที่ยังใช้ในปัจจุบันมาแล้วหลายครั้ง อาทิ ขบวนรถ VIP, ขบวนรถท่องเที่ยว, รถปรับอากาศ จนมาครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 5 ที่การรถไฟฯ ได้รับขบวนรถจากญี่ปุ่น (JR HOKKAIDO)

นอกจากนี้ JR EAST ได้เสนอมอบขบวนรถไฟดีเซลราง จำนวน 20 คัน ทั้งแบบที่มีห้องคนขับ และไม่มีห้องคนขับ มีสภาพดี และยกเลิกใช้ในเมื่อไม่นานนี้ หรือเมื่อ ต.ค. 2564 ซึ่งล่าสุด การรถไฟฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปดูเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากพิจารณาตกลงรับมอบ การรถไฟฯ จะตัดตั้งงบประมาณในการขนส่งคล้ายกับขบวนรถ KIHA 183 ต่อไป