รฟท. กางงบปี 66 วงเงิน 2.27 หมื่นล้าน เพิ่มจากปี 65 กว่า 82% ทุ่มเวนคืนที่ดินสร้าง ‘ทางคู่-ไฮสปีด’ 1.03 หมื่นล้าน

รฟท. กางงบปี 66 วงเงิน 2.27 หมื่นล้าน เพิ่มจากปี 65 กว่า 82% ทุ่มเวนคืนที่ดิน 4 โปรเจกต์วงเงิน 1.03 หมื่นล้านพร้อมเตรียมเสนอ ครม. ขอกู้เสริมสภาพคล่อง 1.52 หมื่นล้าน หลังยังเจอปัญหาขาดทุน

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า รฟท.ได้รับการจัดสรรงบประมาณตาม ...งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงิน 22,727.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 82% จากปี 2565 ที่ได้รับการจัดสรรวงเงิน 18,700 ล้านบาท โดยไม่มีรายการใหม่ ส่วนใหญ่เป็นรายการผูกพันต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ปีงบประมาณ 2566 รฟท.มีค่าเวนคืนที่ดินในโครงการใหญ่ รวมวงเงิน 10,386 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าเวนคืนที่ดินในส่วนของโครงการรถรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง ได้แก่ สายเหนือ ช่วงเด่นชัยเชียงรายเชียงของวงเงิน 4,326 ล้านบาท และสายอีสาน ช่วงบ้านไผ่มหาสารคาม วงเงิน 3,615 ล้านบาท

นอกจากนี้ ค่าเวนคืนที่ดินโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีน ระยะที่ 1 วงเงิน 2,020 ล้านบาท และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมืองสุวรรณภูมิอู่ตะเภา) วงเงิน  424 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโครงการทางคู่ระยะที่ 2 นั้น ขณะนี้ ยังไม่ได้เสนอเรื่องไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงยังไม่มีการตั้งวงเงินในส่วนของค่าเวนคืนที่ดิน

นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า สำหรับการตั้งวงเงินชำระหนี้ในปี 2566 แบ่งเป็น เงินต้น 4,351 ล้านบาท ดอกเบี้ย 3,966 ล้านบาท ซึ่งรัฐจะเป็นผู้จัดสรรงบประมาณในส่วนที่รัฐรับภาระการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนประมาณการรายได้ปี2566 ประกอบด้วย โครงการรถไฟสายสีแดง รายได้จากค่าโดยสาร ค่าขนส่งสินค้า รายได้จากบริหารทรัพย์สินรวมประมาณ 9,620 ล้านบาท ส่วนรายจ่าย ทั้งค่าบำรุงรักษาทาง สัญญาณ ขบวนรถ และค่าดำเนินการเดินรถ วงเงิน16,355 ล้านบาท ซึ่ง EBIDA ขาดทุน 6,735 ล้าน ทั้งนี้ ไม่รวมค่าบำนาญ ดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าเสื่อมราคา

นายนิรุฒ กล่าวอีกว่า รฟท. ยังประสบกับปัญหาขาดทุน เพราะค่าโดยสารไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ขณะเดียวกันการให้รัฐชดเชยในส่วนที่ขาดทุน ก็ไม่เพียงพอ ดังนั้น รฟท. จึงต้องกู้เงินทุกปี ซึ่งจากการประเมินแล้ว คาดว่า รฟท.จะขาดสภาพคล่องประมาณ 15,200 ล้านบาท ขณะนี้ รฟท.อยู่ระหว่างการสรุปข้อมูล เพื่อนำเสนอ ครม. ขออนุมัติต่อไป

การประมาณการรายได้ปี 2566 มองว่าสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง หลังจากนี้จะทำให้รายได้ดีขึ้น จะเกิดการเดินทางเพิ่มมากขึ้น ส่วนด้านขนส่งสินค้า ทางฝ่านวินค้าได้พยายามหาตลาดมากขึ้น ขณะที่การพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (SRTO) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง สนับสนุนนโยบายการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากทางถนนเป็นทางราง หากทำได้จะทำให้ รฟท.มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ตอนนี้ยังมีอุปสรรคอยู่เนื่องจากยังไม่มีผู้ประกอบการนายนิรุฒ กล่าว