‘การรถไฟฯ’ เข็นรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 เส้นทางเปิดประมูลภายในปีนี้ พร้อมเตรียมชง ครม.ไฟเขียวปรับกรอบวงเงินเพิ่ม 1 เส้นทาง

รฟท. จ่อชง ครม. ไฟเขียวเพิ่มกรอบวงเงินรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยายช่วงตลิ่งชันศาลายากว่า 468 ล้าน หลังค่างานโยธาพุ่งสูงโดนค่าวัสดุราคาน้ำมันพ่นพิษ พร้อมเข็น 3 เส้นทาง 2.18 หมื่นล้าน เปิดประมูลภายในปี 65 เตรียมลุยเปิด PPP “จัดหารถไฟเดินรถบริหารฯมัดรวม 6 เส้นทางเสนอสภาพัฒน์ฯ คาดประมูลได้ในปี 67 ส่วนMissing Link เร่งปรับแบบสถานีราชวิถี” & ปรับวงเงินใหม่

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยายว่า ในขณะนี้ รฟท.อยู่ระหว่างการสรุปข้อมูลและรายละเอียดผลการทบทวนราคาค่าก่อสร้างโครงการรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยายจำนวน 3 เส้นทาง ตามมติการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ในครั้งก่อนหน้านี้ ที่ได้มีมติเห็นชอบผลการทบทวนฯ แล้ว ซึ่งหลังจากนี้ เตรียมเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม ก่อนที่จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติภายในปี 2565 ต่อไป

สำหรับการทบทวนราคาค่าก่อสร้างโครงการรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยายจำนวน 3 เส้นทางนั้น แบ่งเป็น การอนุมัติกรอบวงเงินที่เพิ่มขึ้น จำนวน 1 เส้นทาง คือ ช่วงตลิ่งชันศาลายา ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร (กม.) กรอบวงเงินใหม่10,670.27 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 468 ล้านบาท จากกรอบวงเงินเดิม 10,202.18 ล้านบาท

ทั้งนี้ สาเหตุที่ต้องขอปรับเพิ่มกรอบวงเงิน เนื่องจากในเส้นทางดังกล่าว จะต้องมีการก่อสร้างสถานีรถไฟเพิ่มเติม 3 สถานี คือ สถานีสะพานพระราม 6, สถานีบางกรวยกฟผ. และสถานีบ้านฉิมพลี ทำให้กรอบวงเงินเดิมไม่เพียงพอ จากค่าก่อสร้างงานโยธาเพิ่มขึ้น รวมถึงวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น และราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นด้วย

นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า ในส่วนของอีก 2 เส้นทางที่มีการทบทวนราคา โดยมีการปรับลดกรอบวงเงินรวม 2,052.38 ล้านบาท ได้แก่ 1.ช่วงตลิ่งชันศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. กรอบวงเงินใหม่ 4,694.36 ล้านบาท ปรับลดลง 1,950.67 ล้านบาท จากกรอบวงเงินเดิม 6,645.03 ล้านบาท เนื่องจากการจัดหาตู้รถไฟฟ้า จำนวน 4 ขบวน หรือทั้งหมด 16 ตู้ได้มีการขอเปลี่ยนรูปแบบเป็นการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ทำให้งบประมาณในการจัดหาตู้รถไฟฟ้าลดลง รวมถึงงานไฟฟ้าและเครื่องกล ก็ได้มีการปรับลดลงไปด้วยเช่นกัน

2.ช่วงรังสิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ระยะทาง 8.84 กม. กรอบวงเงินใหม่ 6,468.69 ล้านบาท ปรับลดลง 101.71 ล้านบาท จากกรอบวงเงินเดิม 6,570.40 ล้านบาท เนื่องจากเส้นทางดังกล่าว ได้มีการปรับแผน และปรับเนื้องานในส่วนของระบบงานโยธา ทำให้งานโยธาไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้

นอกจากนี้ การปรับลดวงเงินดังกล่าวนั้น เนื่องจากไม่มีการซื้อขบวนรถ และมีการปรับลดค่าเวนคืนที่ดินที่เกี่ยวข้องวงเงิน 90 ล้านบาทด้วย อย่างไรก็ตาม 2 เส้นทางที่ปรับลดวงเงินนั้น จะเสนอให้ ครม.เพื่อรับทราบเท่านั้น เนื่องจากยังอยู่ในกรอบวงเงินเดิมที่เคยอนุมัติในก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 เส้นทาง คาดว่า จะเสนอ ครม. และเปิดประมูลได้ภายในช่วงปลายปี 2565

นายนิรุฒ กล่าวอีกว่า ในส่วนของ PPP นั้น หลังจากนี้จะเสนอให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนส่งต่อไปยังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อขออนุมัติโครงการรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยาย ซึ่งจะนำทั้ง 6 เส้นทางมารวมกัน โดยมี 3 เส้นทางดังกล่าวข้างต้น รวมด้วยช่วงบางซื่อรังสิต, ช่วงบางซื่อตลิ่งชัน, ช่วงบางซื่อพญาไทมักกะสันหัวหมาก และช่วงบางซื่อหัวลำโพง (Missing Link) ด้วย

ทั้งนี้ ภาครัฐ จะเป็นผู้ดำเนินการในส่วนของโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่เอกชนมีระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี จะรับผิดชอบเรื่องการจัดหารถ การบริหารจัดการ และการเดินรถ ซึ่งจะต้องให้สอดคล้องกับปริมาณผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต สำหรับการเปิด PPP เดินรถนั้น คาดว่า เปิดประมูลได้ไม่ทันในปี 2566 เนื่องจากต้องดำเนินการเปิดรับฟังความสนใจของภาคเอกชน (Market Sounding) ตาม ...การร่วมลงทุนฯ ซึ่งจะต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน รวมถึงขั้นตอนการอนุมัติ อย่างไรก็ตาม คาดว่า จะสามารถเปิดประมูลได้ภายในต้นปี 2567

สำหรับช่วงบางซื่อพญาไทมักกะสันหัวหมาก และช่วงบางซื่อหัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กม. วงเงินลงทุน 44,157.76 ล้านบาท มีทั้งหมด 9 สถานีนั้น ขณะนี้ อยู่ระหว่างปรับแบบสถานีราชวิถี และย้ายตำแหน่งสถานีใหม่ เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเดินเชื่อมเข้าสู่อาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีได้อย่างสะดวก ทั้งนี้ จะมีการประเมินกรอบวงเงินใหม่อีกครั้ง และจะเร่งดำเนินการ เพื่อที่จะเสนอให้ ครม.พิจารณาต่อไป