‘ศักดิ์สยาม’ เปิดศูนย์ปฏิบัติการทางน้ำฯ ยกระดับความปลอดภัย ป้องกันอาชญากรรมทางทะเล พร้อมสร้างความมั่นใจนักท่องเที่ยว

ศักดิ์สยามเปิดศูนย์ปฏิบัติการทางน้ำฯ มูลค่า 881 ล้าน เสริมแกร่งการจราจรทางน้ำ ยกระดับความปลอดภัย ป้องกันอาชญากรรมทางทะเล “อ่าวไทยอันดามัน” รองรับการตรวจ IMO ในปี 66 พร้อมสร้างความมั่นใจนักท่องเที่ยว ส่วนคืบหน้าแลนด์บริดจ์จ่อชง ครม.ไฟเขียวภายในปีนี้ ก่อน Roadshow ดึงนักลงทุนต่างประเทศ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในวันคล้ายวันสถาปนากรมเจ้าท่า (จท.) ครบรอบ 163 ปี และเปิดศูนย์ปฏิบัติการควบคุมความปลอดภัยและการจราจรทางน้ำ วันนี้ (5 .. 2565) ว่า ตลอดระยะเวลา 163 ปีที่ผ่านมา จท.ได้ปรับปรุงและพัฒนาหน่วยงาน รวมทั้งพัฒนาภารกิจมาอย่างต่อเนื่อง สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล มุ่งสู่ “MD NEXT 2023” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ได้รับความสะดวก ทั่วถึง และปลอดภัย อาทิ การพัฒนาศักยภาพการขนส่งทางน้ำ

อีกทั้ง การพัฒนามาตรการความปลอดภัยของการขนส่งทางน้ำและการพาณิชยนาวี การพัฒนาและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำและการผลิตบุคลากรด้านพาณิชยนาวีให้มีคุณภาพ รวมทั้งการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทางน้ำทั้งแม่น้ำคูคลอง และชายฝั่งทะเล ตอบสนองความต้องการของประชาชนและประเทศชาติ เพื่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศก้าวสู่ปีต่อไป

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า สำหรับศูนย์ปฏิบัติการฯ ดังกล่าว ได้เปิดใช้อย่างเป็นทางการวันนี้ โดยใช้งบประมาณ881 ล้านบาท โดยได้ดำเนินการก่อสร้าง 2 ปี ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเพื่ออำนวยการบูรณาการข้อมูลสารสนเทศด้านการขนส่งทางน้ำของประเทศไทยอย่างเป็นระบบ และเตรียมความพร้อมมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางน้ำ อีกทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวในโอกาสที่ประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศอย่างเต็มรูปแบบ

สำหรับศูนย์ปฏิบัติการควบคุมความปลอดภัยและการจราจรทางน้ำภายใต้โครงการระบบตรวจการณ์ชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่างและอันดามัน (VTS 3) นั้น เพื่อเป็นศูนย์อำนวยการบูรณาการข้อมูลสารสนเทศด้านการขนส่งทางน้ำของประเทศไทยอย่างเป็นระบบ ยกระดับมาตรฐานการรักษาความปลอดภัย การตรวจตรา ดูแล และติดตามเส้นทางการเดินเรือทั้งในและต่างประเทศ ในระยะรัศมีไม่น้อยกว่า 50 กิโลเมตร (กม.) ในทะเลอ่าวไทยและอันดามัน โดยคาดว่าจะมีปริมาณการจราจรทางน้ำประมาณ 4-5 หมื่นเที่ยวต่อปี

นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์กลางในการประสานระบบสื่อสารทางทะเล พร้อมบูรณาการข้อมูลสารสนเทศด้านการขนส่งทางน้ำเพื่อประโยชน์ของประเทศ รวมทั้งช่วยสนับสนุนศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ขณะเดียวกัน ในอนาคต จท. จะบูรณาการร่วมกับกรมประมง, กองทัพเรือ เพื่อนำระบบของศูนย์ปฏิบัติการฯ ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นำไปสู่การป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย และอาชญากรรมทางทะเล

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ศูนย์ปฏิบัติการฯ ยังเป็นการดำเนินการเพื่อรองรับการเข้ารับการตรวจการปฏิบัติตามพันธกรณีที่ประเทศไทยให้สัตยาบันไว้กับองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ในปี 2566 โดยสร้างความมั่นใจเชื่อมั่น และแสดงให้ผู้ตรวจสอบได้เห็นว่า ประเทศไทยได้นำระบบมาใช้กำกับ ติดตาม และตรวจสอบการปฏิบัติของเรือ ท่าเรือ และการตรวจสอบมาตรฐานคนประจำเรืออย่างต่อเนื่อง ตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยของ IMO ในการคมนาคมขนส่งทางน้ำของประเทศ

สำหรับศูนย์ปฏิบัติการฯ มีทั้งหมด 3 แห่ง ประกอบด้วย จท. (กรุงเทพมหานคร), ชลบุรี และภูเก็ตโดยมีสถานีลูกข่ายในชายฝั่งอ่าวไทย 12 สถานี สถานีลูกข่ายในชายฝั่งอันดามัน 11 สถานี และศูนย์ปฏิบัติการระบบตรวจการณ์ 2 แห่ง เพื่อเชื่อมโยงกับระบบตรวจการณ์เดิมในระยะที่ 1 และ 2 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เฉพาะอ่าวไทยตอนบนและมีสถานีลูกข่าย 10 สถานี จะทำให้มีสถานีลูกข่ายตรวจการณ์เป้าในทะเลของประเทศ รวมทั้งสิ้น 33 สถานี

ส่วนความคืบหน้าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน(แลนด์บริดจ์) ชุมพรระนองนั้น อยู่ระหว่างการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งคาดว่า จะศึกษาแล้วเสร็จภายในปี 2565 ก่อนที่จะเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ จากนั้นจะสร้างความรับรู้ของประชาชน โดยการทำ Roadshow ของโครงการทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุนต่อไป

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า สำหรับเป้าหมายการพัฒนาขนส่งทางน้ำในอนาคตนั้น จท. ได้เดินหน้าการพัฒนาท่าเรือริมน้ำเจ้าพระยา 29 แห่ง (ไม่รวมท่าเรือของเอกชน) ปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับปรุงท่าเรือให้มีความทันสมัย และยกระดับท่าเรือให้เป็นสมาร์ทพอร์ต คาดว่าจะดำเนินการปรับปรุงแล้วเสร็จภายในปี 2567

นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้ จท. บูรณาการร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการพัฒนาเรือในคลองแสนแสบ โดยการนำเรือไฟฟ้ามาให้บริการในอนาคต รวมทั้งแนวทางการพัฒนาท่าเรือด้านการท่องเที่ยว รองรับเรือขนาดใหญ่เพื่อสร้างรายได้ในอนาคตด้วย ทั้งนี้ มอบหมายให้ จท. ไปร่วมลงทุนกับภาคเอกชน (PPP) ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการดำเนินการ จากการรองบประมาณของภาครัฐ