‘นกแอร์’ เร่งแผนฟื้นฟูฯ เคลี้ยร์หนี้ 5.8 พันล้าน ขยายฐานการบินสู่ ‘เชียงใหม่’ คาดปีนี้ผู้โดยสารแตะ 4 ล.คน ตั้งธง! หยุดขาดทุนปี 66 ฟันกำไรในปี 67

“นกแอร์” ลุยแผนฟื้นฟูกิจการฯ เร่งเคลียร์หนี้ 5.8 พันล้าน จ่อเพิ่มทุน 600 ล้านในปี 66 เตรียมซื้อฝูงบินโบอิ้ง 737-800 เพิ่ม 6 ลำ รองรับขยายฐานการบินใหม่ “เชียงใหม่” พร้อมเปิดเส้นทางใหม่ข้ามภูมิภาค คาดปีนี้รายได้ฟื้นตัว 50% เทียบก่อนเกิดโควิด-19 มีผู้โดยสารแตะ 4 ล้านคน เล็งเปิดบินไปจีน-อินเดียช่วงปลายปีนี้ ตั้งธงหยุดขาดทุนในปี 66 ก่อนฟันกำไรในปี 67

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนฟื้นฟูกิจการฯ ว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ระบุมูลค่าหนี้วงเงินประมาณ 5,800 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนดังกล่าว เป็นมูลค่าหนี้ของผู้ถือหุ้น มีดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 2,700 ล้านบาท โดยในช่วงที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ทยอยชำระหนี้ไปบางส่วนแล้ว (ไม่รวมหนี้ของผู้ถือหุ้น) ทั้งในส่วนของค่าเช่าเครื่องบิน และค่าซ่อมบำรุง โดยได้ชำระตรงตามเวลาที่กำหนด พร้อมทั้งเจรจากับเจ้าหนี้รายอื่นเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่า สายการบินฯ จะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูฯ ได้ภายใน 5 ปีตามกรอบระยะเวลาที่แผนฟื้นฟูฯ กำหนด

ขณะเดียวกัน ในแผนฟื้นฟูฯ ที่วางไว้ว่า สายการบินจะต้องกู้ยืมเงินเพิ่มอีก 300 ล้านบาทในปี 2565 นั้น แต่ในปัจจุบันสายการบินยังมีสภาพคล่องตัว และสามารถดำเนินธุรกิจได้ รวมถึงรัฐบาลได้ช่วยเหลือในเรื่องการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่น และอากาศยานภายในประเทศ จากเดิมอัตราลิตรละ 4.726 บาท เป็นลิตรละ 0.20 บาท ออกไปอีก 6 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-31 ธ.ค. 2565) เพื่อช่วยลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ โดยสารการบินฯ จึงยังไม่มีการกู้เงินตามแผนที่วางไว้

ในส่วนของปี 2566 สายการบินมีแผนจะเพิ่มทุน หรือกู้เงินอีกจำนวน 600 ล้านบาท เพื่อนำเข้าเครื่องบินโบอิ้ง B737-800 เพิ่มจำนวน 6 ลำ ซึ่งจะทยอยรับมอบในช่วงปลายปี 2565-ต้นปี 2566 รวมทั้งเป็นค่าใช้จ่ายในงานซ่อมบำรุง และการเพิ่มสภาพคล่อง เพื่อดำเนินธุรกิจต่อไป อย่างไรก็ตาม ตั้งเป้าไว้ว่า ในปี 2566 สายการบินฯ จะมีผลประกอบการหยุดการขาดทุน หรือมีจุดคุ้มทุน (Break Even) และจะมีกำไรในปี 2567 ตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการฯ

เดิมเราวางกรอบเวลาของแผนฟื้นฟูฯ ไว้ 5 ปี แต่จากสถานการณ์ตอนนี้ อาจจะไม่ตรงตามแผนนั้น เพราะไม่คาดว่าการระบาดโควิด-19 จะมีหลายระลอกมาเรื่อยๆ แบบนี้ รวมถึงการเปิดประเทศของแต่ละประเทศก็เปลี่ยนแปลงไป จึงไม่เป็นไปตามแผน โดยเฉพาะรายได้ของธุรกิจ แต่ในปัจจุบันจากนโยบายภาครัฐมีรายได้ฟื้นตัวกลับมากว่า 50% แล้ว เทียบกับปี 2562 หรือช่วงก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 รวมถึงเราก็เตรียมเพิ่มความถี่ในการบินมากขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย” นายวุฒิภูมิ กล่าว

นายวุฒิภูมิ กล่าวอีกว่า ในส่วนของอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ในขณะนี้ จากข้อมูล มิ.ย. 2565 อยู่ที่ประมาณ 85-90% และคาดว่า ภาพรวมสิ้นปี 2565 จะอยู่ที่ 85% ขณะที่จำนวนผู้โดยสารคาดว่า ในปี 2565 จะมีผู้โดยสารจำนวน 4 ล้านคน หรือฟื้นตัวประมาณ 50% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เมื่อปี 2562 ด้านความถี่เที่ยวบินในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 80-100 เที่ยวบินต่อวัน และในช่วงวันหยุดยาวอยู่ที่ 110 เที่ยวบินต่อวัน จากเมื่อช่วงก่อนเกิดโควิด-19 อยู่ที่ประมาณ 140-160 เที่ยวบินต่อวัน

ทั้งนี้ ในส่วนของอุตสาหกรรมการบินในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 นั้น มองว่า มีทั้งปัจจัยบวก และปัจจัยลบ โดยปัจจัยบวก คือ รัฐบาลให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการบิน รวมถึงการช่วยเหลือเรื่องภาษีน้ำมัน และส่วนลดค่าธรรมเนียมการใช้สนามบินค่าเช่าสถานที่ รวมทั้งโครงการเราเที่ยวด้วยกันของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ขณะที่ปัจจัยลบ คือ ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนน้ำมันในตอนนี้อยู่ที่ 48% จากเดิม 30% อีกทั้งยังมีเรื่องค่าโดยสาร, ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง และสงครามรัสเซีย-ยูเครน อย่างไรก็ตาม สายการบินฯ ยังพิจารณาการเปิดประเทศของจีน และนโยบายผ่อนคลายการเดินทางของไทยกับอินเดียด้วย

นายวุฒิภูมิ กล่าวต่ออีกว่า ในปี 2565 สายการบินฯ มีแผนเปิดเส้นทางบินใหม่ โดยขยายฐานการบินที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ อาทิ เส้นทางกรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ)-เชียงใหม่, เชียงใหม่-นครราชสีมา ที่เตรียมเปิดทำการบินในวันที่ 1 ส.ค.นี้ รวมถึงเส้นทางระหว่างประเทศ เช่น เชียงใหม่-เวียดนาม (ดานัง), เชียงใหม่-สิงคโปร์, เชียงใหม่-ญี่ปุ่น ที่อยู่ระหว่างการศึกษา และเชียงใหม่-ไต้หวัน ที่คาดว่า จะเปิดทำการบินหลัง พ.ย. 2565

ในส่วนเส้นทางไปยังประเทศจีนนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาว่า จะใช้ฐานการบินใด ระหว่างท่าอากาศยานดอนเมือง, ท่าอากาศยานภูเก็ต หรือท่าอากาศยานเชียงใหม่ โดยคาดว่า จะเปิดทำการบินในช่วง ต.ค.-พ.ย. 2565 ขณะที่เส้นทางไปยังเมืองคยา และพาราณาสี ประเทศอินเดีย สายการบินฯ มีแผนจะเปิดทำการบินภายใน ต.ค. 2565 โดยในขณะนี้ อยู่ระหว่สงการขออนุญาตทำการบิน ทั้งนี้ เหตุที่สายการบินฯ ได้ขยายฐานการบินไปยังเชียงใหม่นั้น เนื่องจากได้พิจารณาจากการเชื่อมเมือง รวมทั้งการแข่งขันด้านราคา และการใช้ตารางการบิน (Slot) ที่ว่างอยู่และมีศักยภาพมาขยายเส้นทางไปยังเมืองต่างๆ