‘บางกอกแอร์เวย์ส’ จ้องชิงเค้ก Duty Free-เมืองการบินอู่ตะเภา พร้อมรุก CLMV ดัน ผดส.-รายได้เพิ่ม

“บางกอกแอร์เวย์ส” พร้อมชิงเค้ก Duty Free-เมืองการบินอู่ตะเภา แจงปี 61 รายได้หด 2% ฟันกำไร 249 ล้าน ด้าน “พุฒิพงศ์” ลั่นปีนี้ จ่อควักงบลงทุน 1.81 พันล้าน ลุยรุกตลาด CLMV คว้ายอดผู้โดยสาร 6.16 ล้านคน ดันรายได้ผู้โดยสารโต 3.5%

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีแผน และพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูล ทั้งการประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์และพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษีอากร (ดิวตี้ฟรี) ในท่าอากาศยานของบริษัท ท่าอากาศยาน จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก เนื่องจากในปัจจุบัน ธุรกิจการบินมีการแข่งขันสูง บริษัทญ จึงต้องหาธุรกิจมาช่วยเสริม เพื่อเพิ่มความเข้มแข็ง และเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทฯ มากขึ้น โดยในส่วนของดิวตี้ฟรีนั้น จะร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจชาวต่างชาติ 2 รายจากเอเชีย และยุโรปในการเข้าร่วมประมูล เวลานี้ขอรอดูรายละเอียดเงื่อนไขการประมูล (ทีโออาร์) จาก ทอท. ก่อนว่าจะแบ่งสัญญา และมีแนวทางอย่างไร จากนั้นจึงจะสรุปได้ว่าต้องเตรียมงบประมาณที่จะใช้ในการลงทุนเท่าใด

ในส่วนของโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาฯ นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดเตรียมเอกสารเพื่อเตรียมเข้าร่วมประมูลในวันที่ 21 มี.ค.นี้ โดยได้ร่วมกับพันธมิตรประมาณ 5-6 กลุ่มบริษัท เนื่องจากโครงการนี้มีการลงทุนค่อนข้างสูง อายุสัมปทานประมาณ 50 ปี ซึ่งวงเงินลงทุนน่าจะอยู่ที่ประมาณ 2-3 แสนล้านบาท โดยการดำเนินงานระยะแรกน่าจะไม่เกิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งในของบริษัทญ คาดว่าจะใช้งบประมาณในการลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทฯ จะถือหุ้นส่วนมากที่สุดประมาณ 30-35% ส่วนว่าจะดึง ทอท. เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจหรือไม่นั้น ยอมรับว่าที่ผ่านมาได้มีการเจรจาเรื่องนี้กับ ทอท.แล้ว แต่ ทอท.ยังสงวนท่าที จึงไม่มั่นใจว่าจะร่วมหรือไม่ร่วม

ด้านของผลประกอบการปี 2561 และทิศทางการดำเนินธุรกิจในปีนี้ นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า ในปี 2561 บริษัทฯ มีรายได้รวม 2.79 หมื่นล้านบาท ลดลง 2% เมื่อเทียบกับปี 2560 โดยมีกำไรก่อนค่าใช้จ่ายทางภาษีจำนวน 356 ล้านบาท และเป็นกำไรสุทธิที่เป็นส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ 249 ล้านบาท กำไรต่อหุ้นเท่ากับ 0.12 บาทต่อหุ้น ขณะเดียวกัน มีจำนวนผู้โดยสารทั้งสิ้น 5.95 ล้านคน เพิ่มขึ้น 0.1% มีอัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ยอยู่ที่ 68.6% และมีอัตราผลตอบแทนต่อผู้โดยสาร (Passenger Yield) เพิ่มขึ้น 1% สำหรับในปี 2562 บริษัทตั้งเป้ารายได้ผู้โดยสารเติบโต 3.5% จากเดิมในปี 2561 มีรายได้ 2.05 หมื่นล้านบาท ขณะที่อัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 70% และการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 3% หรือประมาณ 6.16 ล้านคน

ทั้งนี้ ในปี 2562 บริษัทฯ มีแผนลงทุนในโครงการด้านอากาศยาน วงเงินรวม 1.81 พันล้านบาท อาทิ โครงการขยายและพัฒนาสนามบินสุโขทัย วงเงิน 958 ล้านบาท โดยได้มีการออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการยื่นขอวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA), โครงการขยายและพัฒนาสนามบินตราด วงเงิน 334 ล้านบาท โดยได้ยื่นขอ EIA แล้ว คาดว่าจะได้รับการอนุมัติและเดินหน้าดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปีนี้ ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 18 เดือน และเปิดให้บริการได้ภายในช่วงกลางปี 2564 อีกทั้งการจัดซื้ออะไหล่เครื่องบินสำรองเพื่อรองรับการซ่อมบำรุง การปรับปรุงสภาพภายใน (Cabin Refurbishment) ของเครื่องบินแบบแอร์บัส ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินการ 2 ปี (2562-2564) รวมถึงการจัดซื้อเครื่องบินแบบเอทีอาร์ 72-600 จำนวน 2 ลำ ที่จะรับมอบในช่วงในไตรมาส 2 ของปีนี้ และมีแผนจัดซื้อเพิ่มอีก 20 ลำภายในระยะ 5 ปีด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในโครงการพัฒนาระบบงานด้านไอที วงเงินรวม 193 ล้านบาท อาทิ การเปลี่ยนระบบให้บริการผู้โดยสารเพื่อใช้ในการสำรองที่นั่ง (PSS) เป็นระบบอะมาดิอุส (Amadeus) การเปลี่ยนระบบสนับสนุนการปฏิบัติการบิน เช่น ระบบควบคุมการบิน ระบบวางแผนการบิน ระบบบริหารจัดการลูกเรือ รวมไปถึงการพัฒนาระบบงานองค์กร (SAP-ERP) และยังได้มีการลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย อาทิ การจัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ บริษัท บางกอกแอร์ เอวิเอชั่น เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ จำกัด และเตรียมเปิดครัวการบินเพิ่มเติมอีก 1 แห่ง ที่สนามบินเชียงใหม่ กำหนดเปิดให้บริการภายในไตรมาส 2 ของปีนี้

นายพุฒิพงศ์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับจุดแข็งของสายการบินแอร์เวย์ส คือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์สมีโครงข่ายเส้นทางครอบคลุมกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งในปัจจุบันมีการให้บริการในเส้นทางดังกล่าว 30 เที่ยวบินต่อวัน และคาดว่าจะมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญกับรายได้ของสายการบิน โดยในปี 2562 บางกอกแอร์เวย์สยังคงเน้นการขยายโครงข่ายเส้นทางการบิน ซึ่งเตรียมเปิด 2 เส้นทางบินใหม่เชื่อมจากจังหวัดเชียงใหม่ไปยังเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่-กระบี่ (เที่ยวเดียว) ให้บริการสัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน เริ่มวันที่ 31 มี.ค. 2562 และจะปรับเป็นให้บริการวันละ 1 เที่ยวบิน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.นี้เป็นต้นไป รวมถึงเส้นทางเชียงใหม่-หลวงพระบาง (สปป. ลาว) ให้บริการสัปดาห์ละ 3 เที่ยวบิน เริ่มให้บริการ 2 เม.ย.นี้ นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางบินยอดนิยม อาทิ กรุงเทพฯ-ดานัง (เวียดนาม) และกระบี่-กรุงเทพฯ อีกด้วย ขณะเดียวกัน ในอนาคตบางกอกแอร์เวย์สจะบุกเบิกเส้นทางบินใหม่ที่ยังไม่มีสายการบินอื่นให้บริการ

ด้านนายพรต เสตสุวรรณ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาด กล่าวถึงแผนการตลาดปี 2562 ว่า สายการบินฯจะเน้นการกิจกรรมส่งเสริมการขายผ่านพันธมิตรทางการค้า (Partnership Marketing) มากขึ้น อาทิ บริษัทประกันภัย บัตรเครดิต ศูนย์การค้า โดยในปีนี้มีแผนที่จะทำกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับบริษัทบัตรเครดิตในประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย เมียนมาร์ และกัมพูชา เพื่อสร้างฐานลูกค้าใหม่ๆ และมีแผนที่จะยกระดับความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่ทำงานด้านส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอินโดจีน โดยมีแคมเปญต่างๆเพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวระหว่างไทยและประเทศในกลุ่ม CLMV มากขึ้น รวมถึงขยายกลุ่มลูกค้าในประเทศไทยนั้น มีแคมเปญ U Fare By Bangkok Airways บัตรโดยสารราคาพิเศษสำหรับกลุ่มนิสิตนักศึกษาและอาจารย์ โดยมีการออกบูธประชาสัมพันธ์แคมเปญในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วประเทศ

ขณะที่ นายวรงค์ อิศรเสนา ณ อยธุยา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการขาย กล่าวว่า บางกอกแอร์เวย์สตั้งเป้ายอดขายในปี 2562 เติบโต 3.5% โดยในปีนี้จะมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการขายบัตรโดยสารผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมการซื้อบัตรโดยสารของลูกค้าได้เปลี่ยนไป นอกจากนี้ จะยังคงเน้นการขายในตลาดกลุ่มประเทศ CLMV และมีแผนขยายธุรกิจแบบเช่าเหมาลำ (Chartered Flights) โดยปัจจุบัน สายการบินฯ มีเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำในเส้นทางระหว่าง สมุย-เฉินตู และสมุย-ฉงชิ่ง