ส่อง! ทำเล 2 ท่าเรือใหม่ ลุยโปรเจกต์ ‘แลนด์บริดจ์’ ชุมพร-ระนอง มูลค่า 2.5 แสนล้าน จ่อเสนอ ‘คมนาคม’ สัปดาห์หน้า ก่อนโยน ครม. เคาะไฟเขียว

สนข. เปิดพิกัด 2 ท่าเรือใหม่ สร้าง “แลนด์บริดจ์” ชุมพร-ระนอง 2.5 แสนล้าน จ่อเสนอ 6 ทำเลให้ “คมนาคม” เลือกภายในสัปดาห์หน้า ก่อนชง ครม.เคาะไฟเขียว พร้อมเตรียมข้อมูล Road Show ต่างประเทศ ตั้งแต่ มิ.ย.นี้ พ่วงโชว์ที่ประชุมเอเปค 14-16 ก.ย. 65 คาดศึกษาโปรเจกต์เสร็จปลายปี 67 ลุยเปิดประมูลนานาชาติ-แก้ กม. ให้เอกชนลงทุน PPP ยึดโมเดล EEC ตั้งธงเปิดใช้ปี 73

นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ชุมพร–ระนองว่า ขณะนี้ สนข.อยู่ระหว่างการพิจารณาคัดเลือกตําแหน่งท่าเรือที่เหมาะสม ทั้งฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน โดยจากผลการศึกษาเบื้องต้น พื้นที่ที่มีศักยภาพ และมีความเหมาะสม พบว่า มีฝั่งละ 3 แห่ง ที่จะพัฒนาเป็นท่าเรือแห่งใหม่ของประเทศไทย

สำหรับทำเลที่ตั้งฝั่งละ 3 แห่ง ซึ่งเป็นทางเลือกเชื่อมท่าเรือ เพื่อรองรับเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ แบ่งเป็น ฝั่งอ่าวไทย จ.ชุมพร ประกอบด้วย 1.แหลมประจําเหียง 2.แหลมริ่ว 3.แหลมคอเขา ส่วนฝั่งอันดามัน จ.ระนอง ประกอบด้วย 1.เกาะตาวัวดํา 2.เกาะสน 3.แหลมอ่าวอ่าง โดยในแต่ละแห่งนั้น มีทั้งข้อดี และข้อเสียแตกต่างกัน

ทั้งนี้ สนข. เตรียมสรุปผลการศึกษารูปแบบเบื้องต้นเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาภายในสัปดาห์หน้า จากนั้นจะเสนอไปยังคณะกรรมการร่วมฯ ระหว่างกระทรวงคมนาคม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากจะต้องมีการพิจารณาพื้นที่มรดกโลก และพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบต่อไป

นายปัญญา กล่าวอีกว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังได้มอบหมายให้ สนข. เตรียมรายละเอียดของโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อนำเสนอในเวทีการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งของเอเปค ครั้งที่ 52 (APEC Transportation Working Group : TPTWG 52) ในวันที่ 14-16 ก.ย. 2565 พร้อมทั้งเตรียม Road Show ทั้งในและต่างประเทศ หรือสถานฑูตต่างๆ ตั้งแต่ มิ.ย. 2565 เป็นต้นไป เพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุน

สำหรับกรอบระยะเวลาดำเนินการการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์นั้น สนข. จะศึกษารูปแบบการดำเนินการจบภายในปี 2565 จากนั้นในปี 2566 จะเขัาสู่กระบวนการวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) พร้อมทั้งจัดทำเอกสาร ควบคู่กับการจัดทำรายวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างไรก็ตาม คาดว่า การศึกษาทั้งโครงการฯ จะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2567 ก่อนที่จะหาตัวผู้รับจ้างในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) และเริ่มก่อสร้างโครงการในปี 2568 พร้อมเปิดให้บริการในปี 2573

ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้น จะเป็น PPP รูปแบบประกวดราคาแบบนานาชาติ (International Bidding) วงเงินลงทุนประมาณ 250,000 ล้านบาท ซึ่งในขณะนี้ อยู่ระหว่างการศึกษาข้อกฎหมาย เนื่องจากโครงการแลนด์บริดจ์ จะการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เป็นต้นแบบ (Model) โดยมีการออกกฎหมายโดยเฉพาะ หรือออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แลนด์บริดจ์ รวมทั้งจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการด้วย

ขณะที่สัดส่วนการลงทุนนั้น จะกำหนดให้เอกชนต่างชาติ สามารถถือสัดส่วนได้เกิน 50% และต้องมีสัดส่วนของนักลงทุนชาวไทยเป็นพันธมิตรร่วมด้วย เพื่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยยืนยันว่า ไม่ได้มีการห้ามนักลงทุนชาวไทยแต่อย่างใด ส่วนความคุ้มค่าในการลงทุนนั้น สนข. ได้ให้โจทย์การศึกษากับบริษัทที่ปรึกษาว่า จะดำเนินการอย่างไรให้คุ้มทุน เบื้องต้น นอกจากจะมีการลงทุน 2 ท่าเรือ รวมถึงมอเตอร์เวย์ และระบบรางแล้ว จะมีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม เพื่อสร้างรายได้จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยระยะเวลาการให้สัมปทาน จะใกล้เคียงกับพื้นที่ EEC

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ในปัจจุบันการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไทยกับกลุ่มประเทศทางด้านมหาสมุทรอินเดีย ต้องเปลี่ยนถ่ายสินค้าทั้งนำเข้าและส่งออกผ่านช่องแคบมะละกา (สิงคโปร์) ซึ่งเส้นทางดังกล่าว เป็นเส้นทางที่อ้อมและมีระยะไกล การจราจรทางน้ำคับคั่ง จากข้อมูลปี 2561 ช่องแคบมะละกามีความหนาแน่นของปริมาณเรือสูงถึง 85,000 ลำ/ปี และในอีก 10 ปีข้างหน้า ปริมาณเรือจะเพิ่มขึ้นกว่า 128,000 ลำ ซึ่งเกินกว่าความจุของช่องแคบมะละกาที่รองรับได้ 122,000 ลำต่อปี ก่อให้เกิดปัญหาการติดขัดและเสียเวลาในการเดินทาง

ทั้งนี้ การศึกษามีการคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณสินค้าเข้ามาในแลนด์บริดจ์ มากถึงกว่า 20 ล้าน TEUs จากการรองรับได้ 40 ล้าน TEUs ซึ่งจะเทียบเท่ากับท่าเรือฮ่องกง ที่มีตู้สินค้าผ่านท่าเรือมากเป็นอันดับที่ 8 ของโลก โดยแลนด์บริดจ์ จะเป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก

นอกจากนี้ จากการศึกษาเทียบเคียงท่าเรือทั่วโลกที่มีการรองรับปริมาณสินค้าเทียบเท่าท่าเรือแลนด์บริดจ์ในประเทศไทยพบว่า โครงการสามารถสร้างรายได้จากการบริหารท่าเรือ การเติมน้ำมันทางทะเล กิจกรรมการสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์จากการเป็นท่าเรือขนถ่าย (Transshipment)

ขณะเดียวกัน มีการประมาณการรายได้รวมของอุตสาหกรรมที่จะพัฒนาในพื้นที่ ได้แก่ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีอนาคต (Mega Trend) อุตสาหกรรมฮาลาล อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เช่น อาหารทะเล ผลไม้ ยางพาราและปาล์มน้ำมันขั้นสูง รวมถึงอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรม Cold Chain การจัดเก็บ และกระจายสินค้า เป็นต้น