‘พัฒนาอุดรฯ’ ยกระดับเศรษฐกิจ ผุด Street Food ดันมูลค่า 1.2 หมื่นล.

“อุดรธานีพัฒนาเมือง” ผนึก สกว.-สมาคมการผังเมืองไทย ร่วมกับเทศบาลนครอุดรธานี และภาคการท่องเที่ยว ใช้กลยุทธ์ “ไมซ์-สตรีทฟู๊ด” ยกระดับมูลค่าเศรษฐกิจพื้นที่ถนนประจักษ์ศิลปาคมและยูดีทาวน์ ตั้งเป้าภายใน 2 ปี เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ 1.2 หมื่นล้านบาท พร้อมดึงกลุ่มทีซีซี กรุ๊ป กระตุ้นการลงทุนโรงแรมในพื้นที่

พ.ท.วรายุส์ ตรีวัฒนสุวรรณ ประธานกรรมการบริษัท อุดรธานีพัฒนาเมือง จำกัด เปิดเผยถึงผลการหารือกับคณะนักวิจัยโครงการพัฒนากลไกการพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อออกแบบเมืองอย่างชาญฉลาดเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมว่า จากการหารือร่วมกับสมาคมการผังเมืองไทย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ผู้อำนวยการสำนักการช่าง เทศบาลนครอุดรธานี เลขาธิการหอการค้าจังหวัดอุดรธานี เลขานุการสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวอุดรธานี ผู้แทนผู้ค้าปลีกพื้นที่ถนนประจักษ์ศิลปาคมและถนนทองใหญ่ พร้อมด้วยผู้นำชุมชน 3 แห่งรอบสี่แยกทองใหญ่และสถานีรถไฟอุดรธานี เห็นควรเร่งรัดการออกแบบปรับปรุงระบบกายภาพพื้นที่สองข้างทางถนนประจักษ์ศิลปาคมช่วงสี่แยกทองใหญ่ (สี่แยกชิบูย่า) จนถึงศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่าอุดรธานี ซอยสัมพันธมิตร ถนนวัฒนานุวงศ์ และถนนทองใหญ่ พื้นที่โดยรวม 2.2 ตารางกิโลเมตรให้เป็นศูนย์เศรษฐกิจไมช์พัฒนาพิเศษ (MICE Special Districts หรือ MSD) 

ทั้งนี้ กำหนดให้ออกแบบฟื้นฟูสตรีทฟู้ด ไนท์มาร์เก็ต และสตรีทแฟชั่นสองข้างถนนประจักษ์ศิลปาคมและซอยสัมพันธมิตรตามแบบมาตรฐาน เพิ่มพื้นที่ร้านอาหารริมทางและย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากเดิมไม่น้อยกว่า 3 เท่า เพิ่มพื้นที่แห่งการเดิน เพื่อการช้อปปิ้งและนันทนาการกลางคืนอีก 2 เท่า ซึ่งหากรวมกับมูลค่าเศรษฐกิจจากการเปิดบริการของศูนย์ประชุมนานาชาติยูดีแล้ว มูลค่าเศรษฐกิจจะเพิ่มจาก 6 พันล้านบาทเป็น 1.2 หมื่นล้านบาทในอีกสองปีข้างหน้าอย่างแน่นอน 

โดยในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 เทศบาลนครอุดรธานีร่วมกับสมาคมการผังเมืองไทยพร้อมด้วยเครือข่ายมาดีอีสานและกลุ่มอุดรฟอรัม 2029 ได้จัดประชุมพิจารณาปรับปรุงการจัดวางสตรีทฟู้ด รูปแบบไนท์มาร์เก็ต และการจัดระบบทางเดิน ที่จอดรถ และการสัญจรในพื้นที่ดังกล่าว โดยจะร่วมกับผู้ประกอบการร้านอาหาร บาร์เบียร์ โรงแรมที่พักบริเวณซอยสัมพันธมิตร

ด้านนายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน พื้นที่เทศบาลนครอุดรธานีมีห้องพักโรงแรมจำนวน 6,917 ห้อง โดยตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์เศรษฐกิจไมช์พัฒนาพิเศษประมาณ 5,550 ห้อง สามารถรองรับการประชุมและการเข้าพักของนักท่องเที่ยวได้อีก 2 ปี โดยหลังจากปี 2564 พื้นที่ของศูนย์เศรษฐกิจไมช์จะต้องมีการลงทุนก่อสร้างโรงแรมเพิ่ม กำหนดเป้าหมายไม่น้อยกว่า 8,000 ห้องเพื่อรองรับศูนย์ประชุมนานาชาติยูดีทาวน์และศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ซึ่งจากการหารือเบื้องต้นกับผู้ประกอบโรงแรมระดับ 4 ดาวพร้อมด้วยนักลงทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ของกรุงเทพมหานคร ทราบว่าบริษัทดังกล่าวได้เตรียมการลงทุนโรงแรมไว้แล้ว

“สำหรับการลงทุนศูนย์การประชุม โรงแรม พื้นที่ค้าปลีก พื้นที่สตรีทฟู๊ด และพื้นที่ไนท์มาร์เก็ตเพื่อการนันทนาการท่องเที่ยวนั้น สมาคมฯ จะร่วมกับเครือข่ายจัดประชุมกระตุ้นการลงทุนในเดือนมีนาคม ซึ่งขณะนี้ได้มีผู้แทนจากบริษัททีซีซีกรุ๊ป บริษัทในเครือซีพีและผู้แทนจากกลุ่มโรงแรมเชนได้ตอบรับเข้าร่วมการประชุมแล้ว” นายฐาปนา กล่าว

นายฐาปนา กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของการขับเคลื่อนการพัฒนาธุรกิจไมช์และการท่องเที่ยว สมาคมพร้อมด้วยเครือข่ายจะประสานทำความตกลงกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (TCEB) และกระทรวงการต่างประเทศเพื่อวางแผนกระตุ้นการประชุมและการท่องเที่ยวในตลาดต่างประเทศ พร้อมทั้งจะประสานข้อมูลกับท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานีรวมทั้งสายการบินเพื่อวางแผนรองรับการเดินทาง 

“คาดว่าในปี 2564 ปริมาณการเดินทางทางอากาศผ่านท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานีจะสูงถึง 4.5 ล้านคนจากปัจจุบันที่ 2.7 ล้านคน โดยคาดการณ์การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวกลุ่มไมช์และการท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 25%” นายฐาปนา กล่าว