‘ฮัทชิสัน พอร์ท’ สร้างความเหนือชั้น!! เปิดท่าเรือชุด D หนุนทลฉ.สู่ World Class

“ฮัทชิสัน พอร์ท” ทุ่มงบ 20,000 ล้าน เปิดท่าเทียบเรือชุด D ชูความล้ำด้านเทคโนโลยีเหนือคู่แข่ง สามารถรองรับเรือขนาดใหญ่ที่สุดในโลก “ไพรินทร์” ฟุ้งช่วยเพิ่มขีดความสามารถท่าเรือแหลมฉบังเพิ่ม 40% ขยายการรองรับ เป็น 11.1 ล้านทีอียู/ปี พร้อมดัน “แหลมฉบัง” สู่ท่าเรือระดับ World Class ในอนาคต

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า โครงการท่าเทียบเรือชุด D ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ ที่จะเชื่อมต่อโครงข่ายระบบคมนาคมที่จะเข้ามารองรับการขนส่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งท่าเทียบเรือชุดใหม่นี้ จะเป็นพื้นฐานคมนาคมขนส่งให้เชื่อมโยงฐานการผลิตแหล่งเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ทั้งยังเป็นประตูการค้า เพื่อเชื่อมต่อระหว่างรูปแบบการขนส่งขั้นพื้นฐานของต่างๆ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการรถไฟทางคู่จากแหล่งอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ที่เชื่อมสู่ท่าเรือแหลมฉบัง มาบตาพุด และสัตหีบ

ทั้งนี้ การขนส่งสินค้าระบบรางที่มีค่าใช้จ่ายต่ำ และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา เทคโนโลยีสมัยใหม่ในท่าเทียบเรือชุด D นั้น จะช่วยยกระดับการให้บริการขนส่งและบริหารจัดการระบบคมนาคมขนส่งให้มีประสิทธิภาพสูงสุด สอดคล้องต่อนโยบายประเทศไทย 4.0 โมเดลใหม่ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยที่มุ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมนับเป็นโครงการที่สอดรับต่อร่างยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคม มุ่งพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ เวลา 20 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2560-2579 สอดคล้องต่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาลที่ต้องการสร้างชาติที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยท่าเทียบเรือชุด D นั้น รองรับตู้สินค้าได้ 3.5 ล้านทีอียูต่อปี และจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าของท่าเรือแหลมฉบังได้อีก 40% และเมื่อเปิดให้บริการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ด้วยจะทำให้ท่าเรือแหลมฉบัง รองรับตู้สินค้าผ่านหน้าท่าจาก 8 ล้านทีอียู เพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้านทีอียู และจะทำให้ท่าเรือแหลมฉบังกลายเป็นท่าเรือระดับโลกด้วย

ด้าน ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบังหรือ ทลฉ. รักษาการแทนผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย หรือ กทท. กล่าวว่า สำหรับท่าเรือแหลมฉบัง เป็นท่าเรือน้ำลึกหลักในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ที่มีโครงการพัฒนาต่างๆ ที่มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีการเติบโตที่เพิ่มมากขึ้น ได้แก่ โครงการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ที่ได้เปิดให้บริการแล้ว รวมถึงโครงการพัฒนาต่างๆ ที่พร้อมรองรับการพัฒนาสู่มาตรฐานการเป็นท่าเรือระดับโลก ได้แก่ โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง และโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) อีกด้วย รวมถึงโครงการพัฒนาต่างๆ ที่พร้อมรองรับการพัฒนาสู่มาตรฐานการเป็นท่าเรือระดับโลก ได้แก่ โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง และโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) โดยท่าเรือแหลมฉบัง และฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย นับว่ามีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน โดยได้เริ่มเปิดให้บริการในพื้นที่ของท่าเรือแหลมฉบัง มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 ฮัทชิสัน พอร์ท เป็นผู้มีประสบการณ์ในการทำงานด้านท่าเทียบเรือในระดับโลก เฉพาะที่ท่าเรือแหลมฉบัง ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทยให้บริการอยู่ในท่าเทียบเรือ A2 A3 C1 และ C2 ในปี 2560 บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท (ประเทศไทย) ได้ทำการขนถ่ายตู้สินค้าครบ 20 ล้านทีอียู นับว่าเป็นผู้ประกอบการท่าเทียบเรือที่ขนส่งสินค้าจำนวนมากที่สุดในท่าเรือแหลมฉบัง โครงการท่าเทียบเรือชุด D นี้ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบัง ให้สามารถรองรับตู้สินค้าได้เพิ่มขึ้นเป็น 11.1 ล้านทีอียู/ปี ซึ่งสอดคล้องต่อวิสัยทัศน์การท่าเรือแห่งประเทศไทย ที่มุ่งสู่มาตรฐานท่าเรือชั้นนำระดับโลก ด้วยการให้บริการด้านโลจิสติกส์ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในปี 2573 อย่างรอบด้าน โดยท่าเรือแหลมฉบังมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาท่าเรือแหลมบังให้เป็น World Class Port โดยเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นท่าเรือที่ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย

ขณะที่ มร.สตีเฟ่น แอชเวิร์ธ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย กล่าวว่า ท่าเทียบเรือชุด D เป็นท่าเรือขนาดใหญ่ที่สุดของท่าเรือแหลมฉบังในขณะนี้ และได้รับเรือขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเข้ามาเทียบท่าแล้ว ซึ่งมีความพร้อมด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือที่ทันสมัยในระดับโลก ทั้งในด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผล ด้วยการลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท ที่ลงทุนไปกับท่าเรือชุดนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า บริษัทพร้อมที่จะลงทุนระยะยาวกับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยอย่างจริงจัง และนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่การขนถ่ายตู้สินค้าขึ้นและลงเรือทั้งหมดถูกปฏิบัติการด้วยปั้นจั่นที่ติดตั้งเทคโนโลยีควบคุมระบบปฏิบัติงาจากระยะไกล หรือรีโมทคอนโทรลทั้งหมด และยังจะช่วยเพิ่มศักยภาพของห่วงโซ่อุปทาน หรือซัปพลาย เชน ในประเทศไทย ผ่านการสร้างโอกาสในการต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ EEC