‘เฉลิมวงศ์’ ขนส่งไทยโตแรง!! เล็งลงทุนตลาด Cross-border

“เฉลิมวงศ์” ขนส่งคนไทยให้บริการด้วยมืออาชีพ โชว์ความสามารถผู้บริหารรุ่นใหม่ สามารถทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ไว้วางใจเข้าใช้บริการ ชูจุดเด่นใช้รถของตัวเองทั้งหมด บริการเป็นกันเองกับลูกค้าเหมือนคนในครอบครัว ให้ความสำคัญด้านเทคโนโลยี ช่วยบริหารการขนส่ง เล็งขยายธุรกิจสู่ Cross-border transport ปักหมุดเมียนมา คาดไม่เกินเมษายน ได้คำตอบ

ระยะเวลากว่า 30 ปี ที่ “เฉลิมวงศ์” ได้โลดเล่นในธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ในฐานะผู้ให้บริการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกทั่วประเทศไทย มาวันนี้ “เฉลิมวงศ์” เติบโตอย่างแข็งแกร่งภายใต้การบริหารงานของทายาทรุ่นที่ 2 คลื่นลูกใหม่ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ทำให้บริษัทได้รับความไว้วางใจจากบริษัทชั้นนำของประเทศในการขนส่งสินค้า

นายปรัชญา เฉลิมวงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฉลิมวงศ์ (กรุ๊ป) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันตน ได้เข้ามาบริหารงานในเฉลิมวงศ์ อย่างเต็มตัวเมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้ว เพื่อสร้างธุรกิจให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นท่ามกลางการแข่งขันสูงทั้งผู้ประกอบการขนส่งที่เป็นบริษัทคนไทยและผู้ประกอบการต่างชาติที่มีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีรถบรรทุกให้บริการทั้งหมด 114 คัน โดยเน้นรถแบรนด์ญี่ปุ่นทั้งหมด

จากที่ตนได้เข้ามาบริหารได้รับงานขนส่งจากบริษัทใหญ่ๆ แทบทั้งสิ้น โดยลูกค้าได้แก่ กลุ่มบริษัทไทยเบฟ บริษัทแสงฟ้า บริษัท ยามาซากิ บริษัทยูเอฟซี และตลาดไทย ส่วนสินค้า ได้แก่ ทองแดง ซึ่งเป็นสินค้าที่มูลค่าสูง มอลต์ที่นำไปทำหัวเชื้อเบียร์ ข้าวสาร เป็นต้น ซึ่งการทำงานขนส่งนอกจากให้บริการขนส่งสินค้าถึงปลายทางอย่างปลอดภัยแล้ว ยังช่วยบริหารคอร์สแก่ลูกค้าเพื่อให้เขาคุ้มทุนมากที่สุด ด้วยเหตุผลนี้ทำให้เฉลิมวงศ์มีลูกค้าเจ้าประจำและใช้บริการกันเป็นระยะยาว

“ยุคที่ผมเข้ามาบริหาร มีการเปลี่ยนแปลงหลายเรื่อง เดิมที่รุ่นคุณพ่อ คุณแม่ จะให้บริการขนส่งแบบคลุมผ้าใบธรรมดา เมื่อผมเข้ามาก็เริ่มให้บริการขนส่งตู้คอนเนอร์ โดยรับสินค้าที่ท่าเรือ ซึ่งจุดเริ่มต้นทำธุรกิจตรงนั้นทำให้ขยายงานได้มากขึ้น รวมทั้งมีคอนเน็คชั่นเพิ่มขึ้นด้วย” นายปรัชญา กล่าว และย้ำว่า การทำธุรกิจขนส่งสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอันดับต้นๆ คือการลดต้นทุน โดยเฉพาะการซ่อมบำรุงรักษารถ ตนมีข้อได้เปรียบในเรื่องนี้ เนื่องจากคุณพ่อของตนมีความรู้เกี่ยวกับการซ่อมรถทำให้ทราบแหล่งซื้ออะไหล่รถที่ราคาไม่แพง และรู้ว่าอะไหล่ตัวไหนถึงเวลาเปลี่ยน ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ลดค่าจ่ายได้ประมาณ 50% ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบอย่างหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตนให้ความสำคัญ คือการพัฒนาระบบเทคโนโลยี และการบริหารองค์กรให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะพนักงาน ในเรื่องของเทคโนโลยี เฉลิมวงศ์ แทบจะเป็นผู้ขนส่งเจ้าแรกที่นำแอฟพลิเคชั่นไลน์ให้พนักงานขับรถใช้ เพื่อติดต่อกับบริษัทและลูกค้า

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาได้นำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยในการบริหารจัดการ นอกเหนือจากตามนโยบายภาครัฐเกี่ยวกับการจัดติดตั้งระบบจีพีเอสแล้ว เรายังเพิ่มในส่วนโซลูชั่นมากมาย อาทิ การใช้โซลูชั่นในการควบคุมปริมาณการใช้น้ำมัน การกำหนดระยะทาง กำหนดระยะเวลาขณะที่ทำการขนส่ง ให้เป็นไปตามแผนงานได้อย่างสูงสุด ทำให้ลูกค้าที่ไว้วางใจเฉลิมวงศ์

นายปรัชญา กล่าวอีกว่า เรื่องที่กำลังตัดสินใจในปีนี้ คือการขยาย Cross-border โดยลูกค้ารายสำคัญจะมีการลงทุนผลิตสินค้าที่เมียนมาและเวียดนาม และได้เจรจากับเฉลิมวงศ์ว่าสนใจให้บริการด้านขนส่งหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ตนก็ให้ความสนใจ แต่ยังติดเรื่องปัญหาข้อกฎหมายต่างประเทศเกี่ยวกับการขนส่ง ซึ่งตนขอเวลาศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจ และสมมติว่ามีการตัดสินใจลงทุนจริงๆ ก็จะเลือกลงทุนที่เมียนมา ประเทศเดียว เนื่องจากมีพันธมิตรที่รู้จักกัน ในเบื้องต้นคาดว่าจะให้เงินลงทุนประมาณ 30 ล้านบาท ในการซื้อรถหัวลากประมาณ 10 คัน ส่วนรูปแบบการลงทุนก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะไม่อยากให้เกิดความผิดพลาด คาดว่าเดือนเมษายนน่าจะได้คำตอบ

ส่วนอีกธุรกิจหนึ่งที่ตนให้ความสนใจและคิดว่าต้องมีการลงทุนอย่างแน่นอนภายในระยะเวลา 2-3 ปีข้างหน้า คือการให้บริการขนส่งสินค้าด้วยเรือชายฝั่ง ซึ่งขณะนี้ในไทยมีประมาณ 3-4 บริษัทที่ให้บริการอย่างจริงจัง ซึ่งการลงทุนก็ไม่แตกต่างกันถ้าเปรียบเทียบการลงทุนซื้อรถ แม้เรือจะมีราคาแพง 25-30 ล้านบาท แต่เรือให้บริการสินค้าได้ครั้งละมากๆ คาดว่าขนส่งทางเรือจะเป็นทางเลือกหนึ่งของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการมากขึ้นในอนาคต

ในยุคที่การขนส่งมีการแข่งขันสูง การปรับตัวถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเรื่องนี้นายปรัชญา กล่าวว่า แต่ละบริษัทมีจุดเด่นและจุดแข็งที่แตกต่างกัน สำหรับเฉลิมวงศ์ มีจุดแข็งคือใช้รถของตัวเองทั้งหมด ไม่มีรถร่วม ซึ่งข้อดีก็สามารถควบคุมได้ง่าย สามารถบริหารพนักงานขับรถได้ดีกว่า นอกจากนี้ยังบริการเป็นกันเองแก่ลูกค้า เน้นมิตรภาพ เพื่อสายสัมพันธ์ที่ดีในการทำธุรกิจระหว่างกัน

“คนที่ทำธุรกิจขนส่งต้องปรับตัวเยอะมาก เพราะมีขนส่งรายใหม่ใหม่เกิดขึ้น ตอนนี้มีบริษัทต่างชาติเข้ามาเปิดบริการมากขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการคนไทยไม่ควรตัดราคากัน ควรมีการแชร์วอลลุ่มร่วมกัน ไม่เช่นนั้นงานจะตกอยู่ในมือต่างชาติ ซึ่งต่างชาติเค้าก็ใช้บริษัทที่เป็นชาติของประเทศตัวเองอยู่แล้ว เช่นญี่ปุ่น สุดท้ายเม็ดเงินก็กลับสู่ประเทศเขา อย่างไรก็ตามนับจากนี้เป็นการแข่งขันสูงต้องปรับตัวเป็นอย่างมาก การขนส่งถ้าจะได้กำไรต้องมีสินค้าทั้งขาไปและขากลับ” นายปรัชญา กล่าว

เมื่อถามถึงการเติบโต นายปรัชญา กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาสามารถทำรายได้เกือบ 100 ล้านบาท ส่วนในปีนี้ตนก็ไม่ได้ตั้งเป้าการเติบโตมาก แค่รักษายอดไว้ไม่ให้น้อยกว่าเก่า ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าพอใจ เพราะยังมีหลายปัจจัยที่จะชี้ชัดว่าการขนส่งในภาพรวมมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะการเลือกตั้ง ถ้าทุกอย่างลงตัวก็สามารถประมาณการรายได้ที่แน่นอนได้