อัปเดต! ไฮสปีดเทรน ‘ไทย-ญี่ปุ่น’ ช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ลุยประยุกต์ใช้ ‘สถานีชินคันเซ็น’ ต้นแบบพัฒนา ‘สถานีลพบุรี’

“กรมรางฯ-ญี่ปุ่น” ถกร่วมไฮสปีดเทรนด้านเทคนิค “ช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่” หารือ 3 ประเด็น ผลกระทบโควิด ชูโมเดล 2 สถานีแดนปลาดิบ “โทยาม่า-ชินโทสุ” กรณีศึกษาพัฒนาพื้นที่ TOD พร้อมประยุกต์ “สถานีรถไฟชินคันเซ็น” ต้นแบบพัฒนา “สถานีลพบุรี “แง่ภูมิทัศน์ “เข้าถึงสถานี-ปริมาณผู้โดยสาร-จุดเปลี่ยนถ่าย-ระบบ Feeder” เร่งสรุปก่อนประชุมนัดหน้า ก.ย. 64

นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า วานนี้ (21 มิ.ย. 2564) ตนได้เป็นประธานการประชุมหารือด้านเทคนิคโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ผ่านระบบการประชุมทางไกลด้วยวิดีทัศน์ โดยมีผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย และผู้แทนจากฝ่ายญี่ปุ่น ประกอบด้วย ผู้แทนจาก Railway Bureau Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism (MLIT) Japan Railway Construction, Transport and Technology Agency (JRTT) และ Embassy of Japan ทั้งนี้ ในการประชุมนั้น ฝ่ายญี่ปุ่นได้มีการนำเสนอแผนการศึกษาในปี 2564 และ ขร.ได้แจ้งความก้าวหน้าระบบรางในเส้นทางสายเหนือให้กับฝ่ายญี่ปุ่นได้รับทราบ โดยจะมีการประชุมครั้งต่อไปใน ก.ย. 2564 ต่อไป

สำหรับประเด็นการหารือ ประกอบด้วย 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ผลกระทบการดำเนินโครงการจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นจะดำเนินการศึกษาผลกระทบในประเด็นผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของประเทศไทย 2.กรณีศึกษาการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ในประเทศญี่ปุ่น ที่ฝ่ายญี่ปุ่นได้นำเสนอกรณีศึกษาของสถานีโทยาม่า และสถานีชินโทสุ ซึ่งเป็นสถานีที่รถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่าน

และ 3.เส้นทางลพบุรีในแง่ของภูมิทัศน์ และการเข้าถึงสถานี รวมถึงปริมาณผู้โดยสาร ที่ฝ่ายญี่ปุ่นได้แนะนำเกี่ยวกับการพัฒนาจุดเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสาร และการเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะ (Feeder) ระหว่างประชาชนสู่ระบบรถไฟความเร็วสูงที่จะนำมาซื่งการพัฒนาพื้นที่ให้มีมูลค่ามากยิ่งขึ้น โดยจะใช้การออกแบบจากสถานีรถไฟชินคันเซ็น ในประเทศญี่ปุ่น ที่จะพัฒนาแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้โดยสาร ขนาดเมือง และจุดที่ตั้งสถานีมาเป็นรูปแบบในการพัฒนาสถานีลพบุรี