ด่วนที่สุด! ‘ศาลล้มละลายกลาง’ เห็นชอบ ‘แผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย’ แล้ว ด้าน 5 อรหันต์ลุยบริหารธุรกิจตามแผนฯ

ด่วน! “ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยแล้ว ด้าน 5 ผู้บริหารแผนเดินหน้าบริหารธุรกิจต่อไป ด้านดีดีการบินไทยเผยกรอบระยะเวลาแผน 5 ปี สามารถขยายระยะเวลาแผนได้ครั้งละ 1 ปีจำนวน 2 ครั้ง รวมไม่เกิน 7 ปี มั่นใจดำเนินการได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (15 มิ.. 2564) ศาลล้มละลายกลางได้กำหนดนัดฟังคำสั่งศาลในการพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งหลังจากที่ศาลล้มละลายกลางได้รับคำคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการของเจ้าหนี้จำนวน 2 ฉบับ คำชี้แจงของผู้ทำแผน ตลอดจนความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในประเด็นต่างๆ แล้วนั้น

ทั้งนี้ ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ และแผนที่แก้ไขตามมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ เมื่อวันที่19 .. 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผลให้ผู้บริหารแผนที่ถูกเสนอชื่อตามแผนฟื้นฟูกิจการและแผนที่แก้ไข 5 ราย กล่าวคือ1.นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ 2.นายพรชัย ฐีระเวช 3.นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ 4.นายไกรสร บารมีอวยชัย และ 5.นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นผู้บริหารแผน ซึ่งจะมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารธุรกิจของบริษัทฯ และดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป

ด้านรายงานข่าวจากการบินไทย ระบุว่า บริษัทฯ ขอขอบคุณศาลล้มละลายกลาง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี เจ้าหนี้ ลูกค้า คู่ค้า คณะผู้จัดทำแผนทั้ง 7 ท่าน และพนักงานทุกคนที่มีส่วนทำให้การบินไทยได้รับความเห็นชอบจากศาลล้มละลายกลาง และมอบโอกาสให้การบินไทยสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

โดยเชื่อว่าผู้บริหารแผน พร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ เพื่อประโยชน์สูงสุดของเจ้าหนี้ทุกราย และขอให้เจ้าหนี้และลูกค้าของการบินไทยเชื่อมั่นว่า การบินไทยพร้อมที่จะกลับมาดำเนินธุรกิจและให้บริการ เพื่อกลับมาเป็นองค์กรที่แข่งขันในตลาด และสามารถสร้างความภาคภูมิใจแก่ประเทศไทยและคนไทย ในฐานะที่เป็นสายการบินแห่งชาติ ที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ

ขณะที่ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย กล่าวว่า ตามที่ศาลล้มละลายกลาง ได้มีคำสั่งรับแผนฟื้นฟูเป็นที่เรียบร้อย และให้ผู้บริหารแผน และผู้บริหาร ดำเนินการตามแผนฯ เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยสามารถขยายระยะเวลาดำเนินการของแผนได้ครั้งละ 1 ปี จำนวน 2 ครั้ง รวมไม่เกิน 7 ปี ซึ่งมั่นใจว่า เป็นกรอบเวลาที่สามารถดำเนินการได้