‘ศักดิ์สยาม’ โต้ปมฮั้วประมูลทางคู่ ‘เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ’ มูลค่า 7.29 หมื่นล้าน ยันประมูล e-bidding โปร่งใส-ตามระเบียบ ลั่น! หากล้มประมูล ‘เสียโอกาส’
“ศักดิ์สยาม” โต้ปมฮั้วประมูลทางคู่ “เด่นชัย–เชียงราย–เชียงของ” มูลค่า 7.29 หมื่นล้าน หลังมีเอกชนยื่นเสนอราคาส่วนต่างใกล้เคียงราคากลาง ยันวิธีประมูล e-bidding โปร่งใส–เป็นไปตามระเบียบ พร้อมรับฟังข้อร้องเรียน เผยห่วงเอกชน หวั่นราคาต้นทุนอาจสูงขึ้น เหตุศึกษาตั้งแต่ปี 55 ชี้หากล้มประมูล “เสียโอกาส” ด้าน “การรถไฟฯ” เผยประกาศผู้ชนะ 8 ก.ค.นี้ ตอกเข็ม ต.ค.64 แล้วเสร็จ ก.ย.70
ตามที่เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ได้แถลงข่าวถึงการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างโครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย–เชียงราย–เชียงของ มูลค่า 72,921 ล้านบาท แบ่งออกเป็น3 สัญญา คือ สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย–งาว, สัญญาที่ 2 ช่วงงาว–เชียงราย และสัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย–เชียงของ เปิดประมูลโครงการด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ของกรมบัญชีกลาง โดยจากการกำหนดเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) ของโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย–เชียงราย–เชียงของ
ทั้งนี้ พบว่า มีแค่ 5 บริษัทที่สามารถนำผลงานเข้าเสนอราคาได้ และมีบริษัทยื่นประมูลเพียง 2 บริษัทเท่านั้น จากบริษัทที่ซื้อซองประมูลทั้งหมด 16-18 บริษัทในแต่ละสัญญา นอกจากนี้ ราคาการประมูลในแต่ละสัญญาก็มีราคาใกล้เคียงกับราคากลาง เช่น รวมทั้ง 2 สัญญา มีส่วนต่างแค่ 31,16 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.12% เป็นต้น ซึ่งแม้การประมูลครั้งนี้จะมีการซื้อซองถูกต้องตามกฎหมาย แต่ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นว่าเป็นการประมูลที่ไร้เทียมทาน หากมีการฮั้วลงทุนจริงภาษีของประชาชนสูญเสียไปหลายพันล้านบาท
เช่นเดียวกับ เฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ – Dr.Samart Ratchapolsitte ที่ระบุว่า เมื่อวานนี้ (25 พ.ค. 2564) มีการประมูลรถไฟทางคู่สายอีสานช่วงบ้านไผ่–มหาสารคาม–ร้อยเอ็ด–มุกดาหาร–นครพนม ระยะทาง 355 กม. แบ่งการประมูลออกเป็น 2 สัญญา โดยมีราคากลางเฉลี่ยสัญญาละ 27,728 ล้านบาท ปรากฏว่าราคาที่ประมูลได้เฉลี่ยสัญญาละ27,705 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าราคากลางเฉลี่ยเพียงสัญญาละ 23 ล้านบาท คิดเป็น 0.08% นับว่าราคาที่ประมูลได้ใกล้เคียงกับราคากลางมาก ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

จากกรณีดังกล่าว นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าว ได้กำหนดให้มีการใช้วัสดุภายในประเทศ (Local Content) ตามนโยบายของรัฐบาล และใช้การประกวดราคาด้วยวิธี e-Bidding ของกรมบัญชีกลาง ซึ่งเป็นหลักการประกวดราคาทั่วไป ไม่เพียงแค่โครงการรถไฟทางคู่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เท่านั้น แต่ยังมีใช้ในการประกวดราคากับโครงการอื่นๆ ของประเทศ เช่น การประมูลโครงการของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.), กรมทางหลวง (ทล.) เป็นต้น ดังนั้น จึงไม่สามารถกำหนดได้ว่า ใครจะเสนอราเท่าไหร่และใครจะเป็นผู้ชนะการประกวดราคา
ทั้งนี้ เมื่อครบกำหนดเวลาการยื่นเสนอราคานั้น กรมบัญชีกลางจะรายงานผล ก่อนที่การรถไฟฯ จะพิจารณาผู้ที่ยื่นเสนอการประกวดราคาว่า มีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ และการเสนอราคาเป็นอย่างไร จากนั้นถึงจะเรียกมาดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การดำเนินการดังกล่าว ยังไม่มีอะไรที่แสดงถึงความไม่โปร่งใสหรือผิดไปจากระเบียบการดำเนินการที่กำหนดไว้
โครงการดังกล่าว มีการศึกษาออกแบบไว้เมื่อตั้งแต่เมื่อปี 2555 ผมยังมีความเป็นห่วงผู้ที่ชนะการประกวดราคาเลยเพราะมีการศึกษาโครงการฯ มาตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปีนี้ คือ ปี 2564 ผ่านมาแล้วกว่า 9-10 ปี อาจจะทำให้มีราคาต้นทุนที่สูงขึ้น อาทิ เหล็ก ซึ่งผมยังห่วงว่า พอถึงเวลาแล้ว ผู้ประกอบการจะไหวไหม แต่เมื่อมายื่นเสนอราคาแล้ว ก็ต้องทำให้ได้ นอกจากนี้ เมื่อมีการตั้งข้อสังเกตมา เราก็รับฟัง โดยในขณะนี้ การตรวจสอบยังไม่มีอะไร ส่วนที่บอกว่า จะให้ล้มประมูล ผมมองว่า เสียโอกาสมาก จริงๆ แล้วมีราคากลางอยู่ ตอนนี้ ผมไม่รู้ว่าใครยื่นร้อง ถ้าท่านมีคุณสมบัติ ก็มายื่นเสนอราคาแข่งขัน ถ้าท่านมองว่า ราคาแพงไป ท่านก็เสนอราคาต่ำๆ มา ก็จะได้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติด้วย” นายศักดิ์สยาม กล่าว
รายงานข่าวจากการรถไฟฯ ระบุว่า โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย–เชียงราย–เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร (กม.) มูลค่า 72,921 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย–งาว ระยะทาง 104 กม. มีผู้เสนอราคาในนามกิจการร่วมค้า 2 กลุ่ม มีผู้เอกสารฯ รวม 5 ราย คือ กลุ่มแรก มีผู้ซื้อเอกสารฯ 3 ราย และกลุ่มที่สองมีผู้ซื้อเอกสารฯ 2 ราย โดยมีผู้ยื่นซองประมูล 2 ราย จากผู้ซื้อซองทั้งหมด 17 ราย โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า กิจการร่วมค้า ITD-NWR ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน) หรือ ITD และบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWR เสนอราคาต่ำสุด 26,568 ล้านบาท จากราคากลาง 26,599 ล้านบาท
สัญญาที่ 2 งาว–เชียงราย ระยะทาง 135 กม. มีผู้เสนอราคาในนามกิจการร่วมค้า 2 กลุ่ม มีผู้เอกสารฯ รวม 4 ราย คือกลุ่มแรก มีผู้ซื้อเอกสารฯ 3 ราย และกลุ่มที่สอง มีผู้ซื้อเอกสารฯ 1 ราย โดยมีผู้ยื่นซองประมูล 2 ราย จากผู้ซื้อซองทั้งหมด 18 ราย โดยกิจการร่วมค้า CKST JOINT VENTURE ซึ่งประกอบด้วย บริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน) หรือCK และบริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ STEC เสนอราคาต่ำสุดที่ 26,900 ล้านบาท จากราคากลาง 26,913 ล้านบาท
สัญญาที่ 3 เชียงราย–เชียงของ ระยะทาง 84 กม. มีผู้เสนอราคาในนามกิจการร่วมค้า 2 กลุ่ม มีผู้เอกสารฯ รวม 4 รายคือ กลุ่มแรก มีผู้ซื้อเอกสารฯ 3 ราย และกลุ่มที่สอง มีผู้ซื้อเอกสารฯ 1 ราย โดยมีผู้ยื่นซองประมูล 2 ราย จากผู้ซื้อซองทั้งหมด 16 ราย โดยกิจการร่วมค้า CKST JOINT VENTURE เสนอราคาต่ำสุดที่ 19,390 ล้านบาท จากราคากลาง19,406 ล้านบาท
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติไปแล้วเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2561 และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เห็นขอบ EIA นั้น คาดว่า จะประกาศใช้ พ.ร.ฎ. เวนคืน ในช่วง มิ.ย. 2564 โดยคาดว่า จะประกาศผลการประกวดราคาวันที่ 8 ก.ค. 2564 และลงนามสัญญา 30 ก.ค. 2564 ก่อนเริ่มก่อสร้างใน ต.ค. 2564 แล้วเสร็จ ก.ย. 2570
*** อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ***