‘ทางหลวง’ ถูกหั่นงบปี 65 ยอดเสนอหาย 63.14% เหลือ 1.15 แสนล้าน หวั่นกระทบโปรเจ็กต์กำลังก่อสร้าง-ใหม่ ชี้จากสถานการณ์ปัจจุบัน ‘ยอมรับได้’

ทางหลวงเผยงบปี 65 ถูกหั่น 63.14% หดเหลือ 1.15 แสนล้าน หวั่นกระทบโครงการอยู่ระหว่างก่อสร้างโครงการใหม่ ลั่น! เข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันยอมรับได้ ด้านการบำรุงรักษา เน้นใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ระบุยังไม่ขยายเส้นทางใหม่ตอนนี้ ไม่กระทบโครงข่ายถนน ส่วนบิ๊กโปรเจ็กต์ หากหลุดโผ เล็งถก สบน. หาแหล่งเงินกู้

แหล่งข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2565 ทล. ถือเป็นหน่วยงานราชการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2565 มากที่สุด อยู่ที่วงเงิน 1.15 แสนล้านบาท โดยได้เสนอวงเงินคำขออยู่ที่วงเงิน 3.13 แสนล้านบาทลดลง 63.14% และลดลงจากปี 2564 ที่ได้รับการจัดสรร วงเงิน 1.25 แสนล้านบาท หรือลดลง 8.36% ทั้งนี้ทล. เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)​

ทั้งนี้ ยอมรับว่า งบประมาณปี 2565 ที่ได้รับการจัดสรรลดลงนั้น อาจจะส่งผลกระทบบ้างต่อโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และโครงการใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น โครงการขยายถนนจาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร เป็นต้นซึ่งหากเป็นโครงการใหม่ ก็จะได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีงบประมาณในการดำเนินการลดน้อยลง แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์เช่นนี้ มีความเข้าใจ และยอมรับได้

ในส่วนของงบลงทุนสำหรับการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่นั้น หากโครงการใด หลุดจากวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร ซึ่งสามารถใช้แหล่งเงินจากวิธีการกู้แทนได้ แต่ในขณะนี้ ยังไม่สามารถตอบตัวเลขวงเงินได้ ซึ่งจะต้องรอการพิจารณาถึงกรอบวงเงินกู้จากสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ต่อไปว่า จะพิจารณาอนุมัติวงเงินจำนวนเท่าไหร่

งานของ ทล.ส่วนใหญ่ จะเป็นงานบำรุงรักษาทางเดิมกับการก่อสร้างเส้นทาง และขยายเส้นทางใหม่ ซึ่งมองว่า ยังไม่กระทบมากนัก เพราะเส้นทางถ้าไม่ขยายตอนนี้ ถือว่ายังไม่มีผลเสียต่อโครงข่ายถนน และเมื่อได้รับการจัดสรรงบน้อยลง ในส่วนการซ่อมบำรุงรักษา จะดูเรื่องความเหมาะสมการใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้น เพื่อให้ประชาชนสะดวกในการเดินทางและมีความปลอดภัยแหล่งข่าวจาก ทล. กล่าว

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า กระทรวงคมนาคม ได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2565 กระทรวงคมนาคม วงเงิน 2.11 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ส่วนราชการ 8 หน่วยงาน วงเงิน 1.75 แสนล้านบาท และรัฐวิสาหกิจ 5 หน่วยงาน วงเงิน 3.57 หมื่นล้านบาท ลดลงจากงบประมาณปี 2564 วงเงิน 1.62 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 7.14%

ทั้งนี้ ทล. ถือเป็นหน่วยงานราชการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2565 มากที่สุด อยู่ที่วงเงิน 1.15 แสนล้านบาท จากวงเงินคำขอที่เสนอขอไป วงเงิน 3.13 แสนล้านบาท ลดลง 63.14% และลดลงจากปี 2564 คิดเป็น 8.36% หรือได้รับการจัดสรร วงเงิน 1.25 แสนล้านบาท รองลงมา คือ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ปี 2565 ได้รับการจัดสรร วงเงิน 4.62 หมื่นล้านบาท จากวงเงินคำขอที่เสนอขอไป วงเงิน 7.81 หมื่นล้านบาท ลดลง 40.85% และลดลงจากปี 2564 คิดเป็น 5.22% หรือได้รับการจัดสรร วงเงิน 4.87 หมื่นล้านบาท

ในส่วนหน่วยงานราชการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2565 น้อยที่สุด และถือเป็นหน่วยงานที่ถูกตัดงบประมาณที่เสนอคำขอไปมากที่สุด คือ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) โดยได้รับการจัดสรรอยู่ที่วงเงิน 116 ล้านบาท จากวงเงินคำขอที่เสนอขอไป วงเงิน 595 ล้านบาท ลดลง 80.45% และลดลงจากปี 2564 คิดเป็น 3.29% หรือได้รับการจัดสรรวงเงิน 120 ล้านบาท

สำหรับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจนั้น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ถือเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและเป็นหน่วยงานเดียว ที่ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2565 ถูกตัด 100% ตามที่ได้เสนอคำขอไป วงเงิน 1.51 พันล้านบาท เนื่องจากไปใช้งบประมาณจากแหล่งอื่นๆ เช่น เงินรายได้ของรัฐวิสาหกิจ, เงินกู้ภายในประเทศ เป็นต้น

รองลงมา คือ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้รับการจัดสรรอยู่ที่วงเงิน 11 ล้านบาท จากวงเงินคำขอที่เสนอขอไป วงเงิน 1.47 พันล้านบาท ลดลง 99.24% และลดลงจากปี 2564 คิดเป็น 87.06% หรือได้รับการจัดสรร วงเงิน 87 ล้านบาท ทั้งนี้ เหตุที่ กทพ.ได้รับงบประมาณน้อยนั้น เนื่องจากโครงการลงทุนต่างๆ ได้ใช้งบประมาณลงทุนจากแหล่งที่มาอื่นๆ เช่น เงินรายได้ของรัฐวิสาหกิจ, เงินกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF)

สำหรับหน่วยงานอื่นๆ ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2565 นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้นนั้น ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) วงเงิน 1.83 หมื่นล้านบาท, การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) วงเงิน 1.30 หมื่นล้านบาท, สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม วงเงิน 553 ล้านบาท, กรมเจ้าท่า (จท.) วงเงิน 4.59 พันล้านบาท, กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) วงเงิน 3.46 พันล้านบาท, กรมท่าอากาศยาน (ทย.) วงเงิน 5.19 พันล้านบาท, สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) วงเงิน 275 ล้านบาท, องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) วงเงิน 4.14 พันล้านบาท, สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) วงเงิน 159 ล้านบาท