เปิดโผ 3 เส้นทางจราจรสาหัส!!! สนข.รับลูก ‘บิ๊กตู่’ เร่งเคลียร์ทาง

รฟท. ลุยเดินหน้าสายสีแดง Missing Link เข้าบอร์ด ธ.ค.นี้ พร้อมเข็นส่วนต่อขยายสายสีแดง 3 วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาทเข้า ครม. เดือน ม.ค.2562 ด้านบางซื่อ-รังสิต พร้อมให้บริการ ม.ค.64

“คมนาคม” เผยผลศึกษา 3 เส้นทางในกรุงเทพฯ มีปัญหารถติดหนักช่วงเช้ามืด ด้าน “บิ๊กตู่” ห่วงเส้นทางผ่านโรงเรียน ฟาก สนข.รับลูกเตรียมชงแผนแม่บทแก้จราจรเมืองหลวง-รถติดหน้าโรงเรียนช่วงปลาย ธ.ค.นี้

จากกรณีที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าว ในพิธีเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ใต้ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการว่า สิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหารถติดในเมืองหลวงนั้นต้องเน้นไปสำรวจเส้นทางที่ที่ผ่านโรงเรียนจำนวนมาก หรือมีสถานศึกษาหลายแห่ง อยู่ในสายทางรวมถึงเส้นทางที่มีศูนย์ราชการขนาดใหญ่ ซึ่งมักจะเป็นปัญหารถติดเรื้อรัง จนส่งผลกระทบต่อเส้นทางจราจรนั้น นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญด้านแก้ปัญหารถติดเพื่อยกระดับชีวิตของประชาชนในกรุงเทพมหานคร ขณะนี้อยู่ระหว่างสรุปแผนแม่บทการแก้ปัญหาจราจรเพื่อเสนอต่อรองนายกรัฐมนตรีต่อไป

ทั้งนี้ เบื้องต้นจากการศึกษาของ สนข.พบว่ามี 3 เส้นทางหลักที่ผ่านสถานศึกษาจำนวนมาก จนทำให้เกิดปัญหารถติดโดยเฉพาะช่วงชั่วโมงเร่งด่วน 06.30-07.45 น. ประกอบด้วย 1.แนวเส้นทางบริเวณ ถ.รัชดาภิเษก เริ่มจากถนนอโศกมนตรี ที่มีโรงเรียนนานาชาติหลายแห่งรวมถึงโรงเรียนใหญ่อย่างวัฒนาและโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร ประกอบกับผู้เดินทางไปทำงานส่งผลให้รถติดพัวพันกระจายไปยังถนนห้วยขวาง ถนนสุทธิสาร ถนนประชานุกูล ถนนวงษ์สว่าง ข้ามไปฝั่งธนบุรีถึงแยกบางพลัด

2.บริเวณถนนสามเสน มีโรงเรียนสำคัญอยู่หลายแห่งส่งผลให้รถติดพัวพันกระจายไปยังถนนสิรินธร ถนนประชาชื่น ถนนนครราชสีมา และเส้นทางสะพานพระราม 8 ก็ถือว่าวิกฤติเช่นกัน โดยโรงเรียนที่สำคัญ ประกอบด้วย โรงเรียนวัดจันทรสโมสร โรงเรียนราชินีบน โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดโบสถ์) โรงเรียนเซนต์กาเบียล โรงเรียนเซนต์ฟรีงซิสซาเวียร์คอนแวน โรงเรียนพระดาบส วิทยาลัยอาชีวศึกษาอาชีวศิลป์และ โรงเรียนวัดใหม่อมตรส เป็นต้น และ 3.ถนนสาทร ซึ่งมีโรงเรียนขนาดใหญ่อย่างกรุงทพคริสเตียนและโรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก รวมถึงโรงเรียนคอนแวนต์อีกหลายแห่ง ส่งผลให้เกิดปัญหาจราจรต่อเนื่องไปยังเส้นสะพานพระราม 4 ถนนฝั่งธนบุรี ถนนฝั่งนนทบุรีและถนนฝั่งบางขุนเทียน โดยเฉาพะสะพานสาทรนั้นมีขนาดความกว้างไม่เพียงพอเกิดคอขวดจนทำให้รถติดหนักมากในช่วงเช้า

นายสราวุธ กล่าวต่ออีกว่า ปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานครจะเริ่มคลี่คลายลง หลังจากการทยอยเปิดรถไฟฟ้าสายใหม่ในแต่ละปีหลังจากนี้ โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน-ราษฏร์บูรณะนั้นจะสามารถแก้ไขปัญหาจราจรถนนสามเสนได้อย่างมีนัยยะสำคัญอีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนการเดินทางของนักเรียนนักศึกษาอีกด้วย ส่วนด้านถนนสาทรนั้นกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินโครงการสาทรโมเดลเพื่อบรรเทาปัญหารถติดพบว่าได้ผลลัพธ์ที่ดีเมื่อพบว่ายานพาหนะทำความเร็วเพิ่มขึ้นได้จาก 8.8 กม./ชม.เป็น 14.8 กม./ชม. ในอนาคตจะมีการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาแก้ปัญหาร่วมกับการใช้ข้อมูลของหน่วยงานด้านจราจรแบบ Big Data คาดว่าจะขยายโมเดลรูปแบบนี้ไปยังพื้นที่อื่นในอนาคต
ดังนั้น แผนการแก้ไขรถติดดังกล่าวนี้ จะถูกบรรจุในแผนแม่บทภาพรวมคาดว่าจะสรุปแผนเพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบ
การจราจรทางบก หรือ คจร. ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในช่วงปลายเดือน ธ.ค.นี้ เบื้องต้นตำรวจนครบาลและกระทรวงคมนาคมได้วิเคราะห์เส้นทางสายหลักที่ต้องเร่งนำแผนต่างไปใช้รวม 21 สาย เช่น ถนนพระราม 9, สีลม, สุขุมวิท เพชรบุรี และเส้นทางวงแหวนกรุงเทพฯ ชั้นใน เป็นต้น