ทิ้งทวน ‘เศรษฐกิจปีจอ’ ‘คมนาคม-โลจิสติกส์’ รอด/ท่องเที่ยวเหลว!!

ส่งท้ายเศรษฐกิจปี 2561 รัฐอัดงบเมกะโปรเจ็กต์ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานระบบรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มอเตอร์เวย์ระหว่างเมือง ขณะที่อีคอมเมิร์ซดันโลจิสติกส์รุ่ง!! ต่างชาติแห่เข้ามาลงทุนในไทย ด้านการส่งออกเติบโต 8% ตามเป้าหมายด้านการท่องเที่ยวเสียท่าสะดุดเกิดปัญหากับนักท่องเที่ยวชาวจีนส่งผลตัวเลขวืดเป้า ส่วนมหากาพย์ประมูลแหล่งผลิตปิโตรเลียมรอบ 21 ปิดจ๊อบตามคาด

ทั้งนี้ ได้รวบรวมแง่มุมทางเศรษฐกิจในประเภทต่างๆ เพื่อให้เห็นภาพรวมตลอดทั้งปี 2561 ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยแยกเป็นสายได้ดังต่อไปนี้

“คมนาคม”อัดงบโครงสร้างพื้นฐาน
สำหรับในปี 2561 นี้ ตามที่รัฐบาลได้วางกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีไว้สูงถึง 2.9 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นรายจ่ายเพื่อการลงทุนสูงถึง 6.67 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นปีแรกที่รัฐบาลอัดฉีดงบเงินลงทุนมากที่สุดคิดเป็น 23% ของวงเงินลงทุนรวมทั้งหมด เพื่อให้การลงทุนภาครัฐเกิดขึ้นต่อเนื่องและเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ ควบคู่กับการลงทุนภาคเอกชน

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม ถือเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการกระจายเม็ดเงินลงทุนไปสู่ระบบเศรษฐกิจฐานราก ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ ทั้งทางถนน ราง น้ำ และอากาศ โดยในปี 2561 ได้รับจัดสรรงบประมาณเป็นวงเงินประมาณ 2 แสนล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 3 ของงบลงทุนรวมทั้งประเทศ

โดยโครงการส่วนใหญ่ของปี 2561 นั้น ได้เน้นการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานขนส่ง ที่สนับสนุนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC การเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเชื่อมต่อการเดินทางในรูปแบบต่างๆ ด้วยความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เน้นหนักที่ระบบราง ทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า รถไฟเชื่อมเพื่อนบ้าน และการเร่งปรับปรุงพัฒนาสนามบินภูมิภาคเพื่อหนุนการท่องเที่ยวที่เติบโตแบบก้าวกระโดด
สำหรับโครงการเด่นๆ ในปี 2561 นั้น มีหลายโครงการที่ได้เริ่มต้น รวมไปถึงเกิดประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ โครงการรถไฟทางคู่, โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา, โครงการรถไฟฟ้ารางเบาในภูมิภาค, โครงการขยายท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3, การพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2, โครงการพัฒนาท่าอากาศยานในภูมิภาค, โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์), การจัดซื้อรถโดยสารเชื้อเพลิงธรรมชาติ หรือ NGV เป็นต้น

บริษัทโลจิสติกส์ต่างชาติปักหมุดลงทุนไทย
แม้ว่าหลายธุรกิจกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจทั้งภายนอกและภายใน แต่ธุรกิจโลจิสติกส์มีแนวโน้มเติบโต ด้วยอานิสงส์ของการส่งออกขยายตัว การเติบโตของอีคอมเมิร์ซ และแรงส่งจากโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจโลจิสติกส์ขยายตัว

สำหรับอีคอมเมิร์ซ ถือว่าเข้ามาเปลี่ยนวงการค้าปลีกแบบเดิม ให้ก้าวไปสู่การซื้อขายและชำระเงินผ่านออนไลน์ แต่การส่งมอบสินค้าจากผู้ขายให้ถึงมือผู้ซื้อยังคงต้องพึ่งพาการขนส่งสินค้า จึงกลายเป็นโอกาสทองของธุรกิจโลจิสติกส์ แน่นอนว่าเมื่อตลาดมีความต้องการสูง ทำให้มีบริษัทขนส่งหลายรายโดยเฉพาะต่างชาติ บริษัทจากสิงคโปร์ เกาหลีและจีนเข้ามาเปิดให้บริการ

ล่าสุด “ซีเจ โลจิสติกส์” โลจิสติกส์รายใหญ่จากเกาหลีใต้ และ “เบส เอ็กซ์เพรส” จากจีนได้เข้ามาให้บริการโลจิสติกส์อย่างครบวงจร โดยชูจุดแข็งที่สำคัญคือความทันสมัยของระบบไอที โดยบริษัทเบทส์มั่นใจว่าตลาดไทยเป็นตลาดที่สำคัญในด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และถือเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ซึ่งประเทศไทย จะถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่จะได้ใช้บริการ เบสท์ เอ็กซ์เพรส ที่ให้บริการด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยในราคาที่ไม่แพง
บริษัทเบสท์ เติบโตและรักษามาตรฐานของบริษัทในฐานะผู้จัดหาการให้บริการด้านซัพพลายเชนแบบบูรณาการแถวหน้าของโลก ด้วยการผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากับความสามารถของ IT และ R&D บริษัทเบสท์มีเป้าหมายที่จะพัฒนาแนวทางแก้ปัญหาด้านโลจิสติกส์ให้ดีขึ้น เพื่อช่วยผลักดันให้บริษัทไทย ก้าวไปสู่ระดับโลก

มร.เจสัน เคียน ซีอีโอและประธานกลุ่มบริษัท เบสท์ ประเทศไทย และ ผู้จัดการทั่วไป เบสท์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้เหตุผลถึงการเปิดให้บริการที่ไทยว่า เบสท์ได้นำการให้บริการขนส่งสินค้าที่ดีเยี่ยมเข้าสู่ประเทศไทยเพราะมองว่าไทย ถือเป็นทำเลทองในการขยายการให้บริการของบริษัทเบสท์ออกไปในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยขณะนี้ เบสท์ ได้ให้บริการรวม 15 ประเทศทั่วโลกอย่างในสหรัฐฯ เยอรมนี ออสเตรเลีย สหราชอาญาจักร จีน และอินเดีย

ขณะที่ นายชา ทงโฮ รองประธานกรรมการบริหารอาวุโสและประธานกลุ่มธุรกิจจัดส่งพัสดุ ซีเจ โลจิสติคส์ เปิดเผยว่า บริษัทมองประเทศไทยจัดเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญต่อการเติบโตของซีเจ โลจิสติคส์ โดยล่าสุดบริษัทได้ลงทุนพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าส่วนกลางขนาด 71,900 ตารางเมตร ในเขตบางนา ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับทางหลวงสายหลัก สนามบิน และท่าเรือสำคัญของประเทศไทย คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค.62 และจะสามารถรองรับการจัดการพัสดุได้สูงสุด 408,000 ชิ้นต่อวัน และจากการติดตั้งระบบคัดแยกกล่องแบบอัตโนมัติ ‘Wheel Sorter’ ในศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่นี้ จะช่วยให้ซีเจ โลจิสติคส์ สามารถรองรับการคัดแยกและลำเลียงกล่องพัสดุได้เพิ่มขึ้นอีก 10 เท่า จากที่ปัจจุบันสามารถรองรับได้เพียง 40,000 ชิ้นต่อวัน นอกจากการยกระดับศูนย์กระจายสินค้าส่วนกลางแล้ว ซีเจ โลจิสติกส์
ได้ขยายเครือข่ายจุดให้บริการอย่างต่อเนื่องครอบคลุมทั่วประเทศ

ส่วนอีกปัจจัยที่ทำให้โลจิสติกส์เติบโตคือ โครงการ EEC ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคม เป็นการอำนวยความสะดวกให้กิจกรรมโลจิสติกส์เกิดความคล่องตัวขึ้น ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และการให้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีที่จะเป็นกลยุทธ์ดึงดูดนักลงทุนผ่าน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายหลัก จะเป็นการเพิ่มอุปสงค์ในการขนส่งสินค้าที่ผลิตในพื้นที่ EEC เพื่อกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ให้เติบโต

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธุรกิจโลจิสติกส์จะขยายตัว แต่ยังมีความท้าทายของผู้ประกอบการในยุคโลจิสติกส์ 4.0 ต้องเผชิญก็คือ การปรับตัวเข้าหาสภาพการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัล การลดต้นทุนการทำงานอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งพัฒนาตนเองให้มีคุณค่าอยู่เสมอ น่าจะเป็นหนทางที่จะสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดเอาไว้ได้ ท่ามกลางกระแสของการแข่งขันในธุรกิจ

ประมูลแหล่งปิโตรเลียมสะเด็ดน้ำเสียที
แวดวงพลังงานของประเทศไทยในรอบปี 2561 นับว่าเรื่องการประมูลสัมปทานแหล่งสำรวจปิโตรเลียมบงกช-เอราวัณ ที่ยืดเยื้อกันมานาน ได้ข้อสรุปเสียที เมื่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน เดินหน้าเปิดการประมูลเพื่อให้ทันต่อปัญหาก๊าซธรรมชาติกำลังจะหมดไปจากอ่าวไทย แม้ว่าจะถูกประท้วง ต่อต้าน จากบรรดาผู้ที่ไม่เห็นด้วยในแง่กฎระเบียบในการได้สิทธิ์และผลประโยชน์ต่างๆ

สรุปกลายเป็นว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติให้ บริษัท ปตท.สผ.เอ็นเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ในกลุ่ม บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) และบริษัท เอ็มอีจี 2 (ประเทศไทย) จำกัด ในกลุ่มมูบาดาลา เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 (แปลงเอราวัณ) และหมายเลข G2/61 (แปลงบงกช) โดย ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน บอกว่า จะสามารถลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับผู้ชนะการประมูลได้ภายในเดือน ก.พ.2562 นี้

ส่งออกไทยโต 8% ตามเป้าหมาย
น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยภายหลังร่วมหารือกับภาคเอกชนเพื่อประเมินสถานการณ์ส่งออกไทยไตรมาส 4 และปี 2561 ว่า จากการที่ประธานาธิดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา และประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ของจีน ระงับลงชั่วคราว โดยสหรัฐและจีนมีข้อตกลงที่จะยุติการขึ้นภาษีสินค้าเป็นเวลา 90 วัน ส่งผลด้านความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ส่งออกและนักลงทุน ทำให้บรรยากาศการส่งออกในช่วงปลายปีดีขึ้น ดังนั้นการส่งออกสำหรับปี 2561 น่าจะโตอยู่ที่ 8% ตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ตั้งแต่แรก

ท่องเที่ยวไทยวืดเป้า ‘ตี๋-หมวย’ เผ่น
ในด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยในปี 2561 ซึ่งถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ในระบบเศรษฐกิจของไทยมาโดยตลอด ปรากฏว่า ปีนี้พลาดเป้าไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งเมื่อต้นปีตั้งเป้านักท่องเที่ยวเอาไว้ที่ 39 ล้านคน หวังสร้างรายได้ให้ประเทศ 2.2 ล้านบาท แต่กลับสะดุดขาด้านปัญหาทัวร์จีน สวัสดิภาพความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวต่างๆ ทำให้ยอดนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะคนจีนลดวูบลงไปค่อนข้างมาก ซึ่งคนจีนหันไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นแทน ทำให้ต้องมีการปรับเป้าหมายตัวเลขนักท่องเที่ยวใหม่เหลือแค่
35 ล้านคน (10 เดือนที่ผ่านมายังทำได้แค่ 31.253 ล้านคนเท่านั้น) ส่งผลกระทบกับรายได้เข้าประเทศที่ห่างเหินจากเป้าเดิมถึง 3.7 แสนล้านบาท

รถยนต์ไฟฟ้ามาแรง รอด/ร่วง
ตลาดรถยนต์ปี 2561 ถือว่าเป็นปีที่ดีมียอดขายราว 1 ล้านคัน แต่สิ่งที่น่าสนใจและถูกจับตามากที่สุดในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ นั่นคือ รถพลังไฟฟ้า “อีวี” ซึ่งได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐ รวมไปถึงรถยนต์ไฮบริด และปลั๊ก-อินไฮบริด รวมด้วย

ขณะที่ นายองอาจ พงศ์กิจวรสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปัจจุบันมียอดการผลิตอยู่ในอันดับ 12 ของโลก อันดับ 4 ของเอเชีย และเป็นที่ 1 ของอาเซียนและโอเชียเนีย รวมถึงตะวันออกกลาง แต่อย่างไรก็ตามยอดขายรถยนต์อีวีในไทยยังไม่ประสบความสำเร็จ โดยปี 2561 มียอดขายไม่ถึง 1% แม้ว่าจะมีค่ายรถยนต์เริ่มผลิตออกมาจำหน่ายในไทยบ้างแล้ว อาทิ Nissan LEAF เปิดตัวด้วยราคาราคา 1,990,000 บาท ซึ่งถือว่าแพงเกินไปจนคนไทยเมินหน้าหนี ขณะที่ค่าย เมอร์เซเดส-เบนซ์ และ MG ต่างเล็งตลาดไว้ในปีหน้า ซึ่งในปีนี้ได้มีการเปิดตัวโมเดลต้นแบบกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ขณะที่หลายประเทศได้มีการพัฒนาและมีทิศทางนโยบายการใช้รถอีวีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น ยุโรป คาดว่าปี 2573 จะมีรถที่เป็นไฮบริดหรือปลั๊ก-อิน และอีวีอยู่ที่ 20-30% ส่วนประเทศจีนตั้งเป้าว่าในปี 2593 จีนจะใช้รถเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งเมื่อหันกลับมามองตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยว่าจะมีทิศทางการเติบโตไปมากน้อยแค่ไหนในปี 2562

ประกันภัยตื่นตัวรับยุคดิจิทัล
สำหรับธุรกิจประกันภัยถือเป็นปีแห่ง “การขับเคลื่อนการประกันภัยในยุคดิจิทัล” ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน และยังคงเดินไปในเส้นทางดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นปี 2561 คปภ. จึงได้พยายามให้บริษัทประกันภัยต่างๆ เร่งเครื่อง หารูปแบบการประกันภัยผ่านช่องทางดิจิทัลให้ประชาชนสามารถเข้าถึง และการให้ความรู้ผ่านเทคโนโลยีด้านประกันภัย หรือที่เรียกว่า InsurTech ซึ่งนับเป็นการพลิกโฉมประกันภัยไทยสู่มิติยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ในหลายบริษัทยังได้มีการปรับแผนธุรกิจมาเน้นขายประกันผ่านช่องทางออนไลน์ อาทิ เมืองไทยประกันภัย ที่ได้ตั้งเป้าเบี้ยประกันภัยสำหรับขายผ่านช่องทางออนไลน์ไว้ประมาณ 100 ล้านบาท โดยขายผ่าน E-Commerce ช่องทาง “MTI connect หรืออย่าง
เมืองไทยประกันชีวิต ชูกลยุทธ์ใหม่ตอบโจทย์คนยุคดิจิทัล ด้วย Digital insurer ซึ่งบริษัทได้พัฒนา Platform และเครื่องมือการให้บริการ ขณะที่กรุงเทพประกันชีวิต ได้ปรับสัดส่วนช่องทางขายให้มีความสมดุลมากขึ้น โดยสัดส่วนยอดขายออนไลน์ 10% จากยอดขายรวม เป็นต้น

“แบงค์” พาเหรดลดสาขา- ลดคน
ต้องบอกว่า เป็นปีชงของธนาคารพาณิชย์ของไทยอย่างมาก เพราะตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงสิ้นปี 2561 นี้ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จนเป็นที่กล่าวขวัญถึงเมื่อ ธนาคารหลายแห่งต่างประกาศลดจำนวนสาขาและพนักงานลง อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับหันไปใช้เทคโนยีเข้ามาช่วยทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแอพลิเคชั่นให้ลูกค้าสามารถทำธุรกิจกรรมทางการเงินผ่านมือถือ หรือการให้บริการผ่านตู้อัตโนมัติ ซึ่งถือเป็นการลดต้นทุนของธนาคารได้เป็นอย่างดี และช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้าในยุคดิจิทัล

สำหรับ ธนาคารไทยพาณิชย์ปี 2561 ปิดไปแล้ว 140 สาขา และปี 2562 คาดว่าจะทยอยปิดเพิ่มอีก 100-125 สาขา ขณะที่ธนาคารกสิกรไทย ปิดสาขาในปี 2561 ประมาณ 90 แห่ง ขณะที่ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานจำนวนสาขาธนาคารพาณิชย์ของไทย เมื่อช่วง 6 เดือนแรกของปี 2561 ที่ผ่านมา ปรับลดลงถึง 46 แห่ง เหลือ 6,734 แห่ง จากเมื่อช่วงต้นปี 2561 ที่มีจำนวนถึง 6,780 แห่ง ซึ่งส่งผลให้พนักงานแบงค์ตกงานนับพันคน