จี้ ปภ.เปิดประมูลเครื่องจับความเร็วใหม่ ก่อนเอกชนยื่นศาลปกครองสั่งคุ้มครองฯ

วงการประมูลงานรัฐ จี้ ปภ.ล้มประกวดราคาซื้อเครื่องตรวจจับความเร็ว เพื่อจัดประมูลฯใหม่ หลังพบ “ใบสั่ง” ขาใหญ่ มท. ล็อกสเปก ทำรัฐจ่ายแพงเฉียด 100 ล้าน แลกเอกชนไม่ยื่นศาลปกครองสั่งคุ้มครองชั่วคราว

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประกาศผู้ชนะประกวดราคาซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา 849 เครื่อง เมื่อ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดย บริษัท ท็อปเบสท์ จำกัด เป็นผู้ชนะฯด้วยราคาประมูล รวมภาษีและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ 389.69 ล้านบาทเศษ  ต่ก็เปิดให้เอกชนรายอื่นยื่นคัดค้านอุทธรณ์ผลการพิจารณาต่อ ปภ.ภายใน 7 วันทำการ

แหล่งข่าววงการประมูลงานราชการ ตั้งข้อสังเกตุว่า บริษัท ท็อปเบสท์ฯ ถือเป็นหน้าใหม่ในวงการอุปกรณ์ตรวจจับความเร็ว และเพิ่งเปิดดำเนินงานมาได้ไม่นาน อีกทั้งราคาที่เสนอมาก็ไม่ถือว่าต่ำที่สุด เพราะก่อนหน้านี้ มีบริษัท สุพรีม (ประเทศไทย) จำกัด ที่มีประสบการณ์ในวงการนี้ 25 ปี เสนอราคาที่ 297.5 ล้านบาท ต่ำกว่าเกือบ 100 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ปภ.อ้างว่า บริษัท สุพรีมฯไม่ผ่านคุณสมบัติการตรวจจับรถยนต์ที่ความเร็วระยะต่างๆ แม้ผู้บริหารของบริษัท สุพรีมฯจะแย้งว่า คุณสมบัติของเครื่องตรวจจับความเร็วของพวกเขาไม่ขัด หรือมีคุณภาพต่ำกว่าข้อกำหนดในทีโออาร์ โดยตรวจวัดค่าความเร็วได้ที่ระยะเกินกว่า 1,200 เมตร ถูกต้องตามข้อกำหนด รวมถึงคุณสมบัติด้านอื่นๆ ที่ระบุไว้ในอีโออาร์ครบถ้วน

ขณะเดียวกัน หากตรวจสอบคุณสมบัติด้านอื่นๆ กับเครื่องตรวจจับความเร็วของผู้ชนะการประมูลครั้งนี้ พบว่ามีคุณสมบัติไม่ตรงตามที่ทีโออาร์กำหนด เช่น การตรวจสอบเพื่อแยกประเภทของยานพาหนะ ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญของทีโออาร์ โดยเฉพาะการทดสอบที่อัตราความเร็วเทียบกับระยะทางในแต่ละระดับ ทั้งนี้ หากพบว่าการขับขี่นั้นๆ มีความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว เครื่องมือดังกล่าวสามารถจะแยกแยะประเภทยานพาหนะนั้นๆ ได้หรือไม่ อาทิ แยกเป็นรถขนาดเล็ก หรือรถบรรทุก เป็นต้น แต่ประเด็นสำคัญเหล่านี้ ปภ.กลับไม่สนใจและไม่คิดจะนำมาเป็นเกณฑ์การตัดสิน

“วงการประมูลงานภาครัฐต่างรู้กันดีกว่าแบ็กอัพของบริษัทผู้ชนะการประมูลครั้งเป็นกลุ่มใด แต่ไม่คิดว่า ปภ.จะใช้วิธีสกัดกั้นเอากับผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน มีประสบการณ์ตรงยาวนาน และเสนอราคาต่ำที่สุด ด้วยการตัดสิทธิ์ว่าขาดคุณสมบัติ เพื่อเปิดทางให้บริษัทที่เพิ่งจัดตั้งได้ไม่นานเป็นผู้ชนะการประมูลในครั้งนี้” แหล่งข่าวระบุ และย้ำว่า หากยื่นอุทธรณ์กันจริงๆ ก็ไม่แน่ว่าจะเปลี่ยนแปลงเป้าหมายที่ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่ต้นได้หรือไม่ เนื่องมีข้าราชการระดับสูงมากๆ ในกระทรวงมหาดไทย คอยชักใยอยู่เบื้องหลังการประมูลครั้งนี้

พร้อมกันนี้ แหล่งข่าวยังเสนอแนะให้ ปภ. ยกเลิกการประมูลที่มีปัญหาและไม่มีความชอบธรรม เพื่อเปิดประมูลใหม่ ทั้งนี้ หากฝืนกระแสและเร่งรัดให้ผู้ชนะการประมูลดำเนินการต่อไปแล้ว ควรที่ผู้เข้าประมูลรายอื่น ซึ่งเป็นผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งแนวทางจะช่วยให้รัฐบาลประหยัดเงินงบประมาณได้อีกเกือบ 100 ล้านบาทอีกด้วย