‘ผู้บริหารไทยแอร์เอเชีย’ เรียกร้องรัฐบาลฉีดวัคซีนสกัดโควิด-19 ให้ได้ตามเป้า พร้อมเปิดแผนทางรอด ลุยปรับโครงสร้างองค์กร ระดมทุนเสริมสภาพคล่อง

ผู้บริหารไทยแอร์เอเชียเรียกร้องรัฐบาล เร่งฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้า เชื่อเปิดประเทศทำการบินไฟลท์อินเตอร์ Q1-2 ปีหน้า เผยโควิด-19 เล่นงานอ่วม กวาดเครื่องบินหายมากกว่า 80% เหลือทำการบิน 15 ลำ ฟาก ผดส. บนเครื่องเหงา เหลือ 70-80 คน/เที่ยว พร้อมเปิดแผนทางรอด ลุยปรับโครงสร้างกิจการ ระดมทุนเพิ่มสภาพคล่อง หลังรอซอฟต์โลนไร้วี่แววด้าน เร่งรวมเงินทุนกว่า 5.90 พันล้าน วางเป้านำ TAA จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แทน AAV

นายธรรศพลฐ์ เเบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV และสายการบินไทยแอร์เอเชีย เปิดเผยว่า ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้พยายามดูแลองค์กรเอง เพื่อให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) เมื่อวันที่ 26 เม.. 2564 ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติแผนการปรับโครงสร้างกิจการและทุนของบริษัท และบริษัทย่อย (บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด หรือ TAA) เพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างมั่นคง และมีประสิทธิภาพ

ซอฟท์โลนถ้าได้ก็เอา แต่ถ้านั่งงอมืองอเท้า บริษัทคงจะเจ๊ง ดีลนี้มาตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 เราก็ไม่ได้รอแต่รัฐบาลอย่างเดียว ความอดทนมีจำกัด ส่วนการตัดสินใจของนักลงทุน ผมไม่ได้โน้มน้าวอะไร ผมว่าบริษัทไม่แย่ ถ้าราคาเข้ามาเหมาะสม เขาก็เลยลงเงิน มันสามารถจับต้องได้ เห็นได้ด้วยตาเปล่านายธรรศพลฐ์ กล่าว

นายธรรศพลฐ์ กล่าวต่ออีกว่า หากโควิดระลอก 3 ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้จบลง เชื่อว่า สายการบินแอร์เอเชีย จะกลับมาทำการบินระหว่างประเทศได้ในไตรมาส 1-2/2565 ซึ่งในช่วง 2-3 ปีแรก หลังทั่วโลกเริ่มเปิด สายการบินจะเร่งการเติบโต เนื่องจากเชื่อว่า ยังมีอีกหลายสายการบิน ที่ยังไม่สามารถเติบโตได้ นอกจากนี้ ยังมองว่า การปรับเปลี่ยนองค์กร จะช่วยทำให้สายการบินมีความพร้อม โดยเมื่อน่านฟ้าเปิด จะสามารถทำธุรกิจได้ทันที ขณะเดียวกันยังทำให้บริษัทมีสภาพคล่องได้อีกอย่างน้อย 2-3 ปีด้วย

สำหรับเที่ยวบินในปัจจุบันนั้น จากสถานการณ์ก่อนการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 2 มีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินประมาณ 40 ลำ ตอนนี้เหลือทำการบิน 15 ลำ หายไปมากกว่า 80% ขณะที่ผู้โดยสารแต่ละเที่ยวบิน เหลือเพียง 70-80 คนเท่านั้น สืบเนื่องจากมาตรการของรัฐที่ขอให้เดินทางเท่าที่จำเป็น จึงมีผลการเดินทางลดลง และจะต้องคืนเครื่องบินตามกำหนดอีก 6 ลำ ทำให้ในสิ้นปี 2564 แอร์เอเชียมีเครื่องบิน 54 ลำ แต่เชื่อว่า เครื่องบินในขณะนี้ มีเกินความต้องการ หลังจากการระบาด คาดว่า น่าจะหาเครื่องบินได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม ขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการฉีดวัคซีน เพราะในปัจจุบันยังฉีดได้ในอัตราที่ต่ำ ส่วนกรณีที่จะเกิดการระบาดระลอกที่ 4 หรือไม่นั้น มองว่ารัฐบาลน่าจะมีบทเรียนแล้ว แต่เชื่อว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น เนื่องจาก ดูจากการฉีดวัคซีนและอัตราการสั่งวัคซีนน่าจะดีเพิ่มขึ้น ส่วนกรณีแผนเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ให้สามารถเดินทางท่องเที่ยวใน .ภูเก็ตได้โดยไม่ต้องกักตัว (ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์) นั้น ตนเชื่อว่า จากสถานการณ์ที่ขึ้นในปัจจุบัน คาดว่า ไม่น่าจะทำได้ เพราะตอนนี้ยังฉีดวัคซีนให้ประชาชนชาวภูเก็ตได้ไม่ครบ แต่ถ้าหากทำได้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และสายการบินมีความพร้อม

*** เปิดแผนปรับโครงสร้างกิจการ ***

นายธรรศพลฐ์ กล่าวอีกว่า ล่าสุดบริษัทได้กำหนดแผนการปรับโครงสร้างกิจการขึ้นใหม่ ซึ่งจะทำให้บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด (TAA) มีทุนหมุนเวียน และสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องเพิ่มทุนเป็นเวลาอย่างน้อยอีก 3 ปี พร้อมเติบโตได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ สำหรับเเผนระยะสั้น TAA จะได้รับสินเชื่อจากนักลงทุนรายใหม่ ในรูปแบบของสัญญาเงินกู้แปลงสภาพ หรือหุ้นกู้แปลงสภาพ ปลอดดอกเบี้ย มูลค่าไม่เกิน 3,150 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ นักลงทุนรายใหม่อยู่ระหว่างการตรวจสอบกิจการ และเจรจารายละเอียดของเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินช่วงกลาง .. 2564 นี้ และได้รับเงินลุงทุนส่วนนี้ประมาณปลาย มิ.. 2564

โดยหลังจากนี้ นักลงทุนจะสามารถแปลงสภาพสัญญาหุ้นกู้นี้ เป็นหุ้นสามัญของ TAA ภายหลังจากที่ TAA นำเเผนเข้าหารือ และได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในการนำ TAA เข้าจดทะเบียนแทน AAV และเสนอขาย หุ้น IPO ต่อไป ซึ่งทำให้จากแผนปรับโครงสร้างกิจการทั้งหมดครั้งนี้ TAA จะได้เงินทุนรวมทั้งสิ้น 5,907 ล้านบาท (ไม่รวมการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อกรรมการหรือพนักงาน หรือ ESOP ซึ่งเป็นการออกเเละเสนอขายหุ้นสามัญที่ออกใหม่ให้เเก่ผู้บริหารระดับสูงของ TAA)

นายธรรศพลฐ์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับเหตุผลในการนำ TAA เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แทน AAV เพราะมองว่า TAA ซึ่งบริษัทปฏิบัติการโดยตรงจะสร้างโอกาสให้นักลงทุนได้ถือหุ้นตรง ดีกว่า AAV ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้ง โดยขอให้เชื่อมั่นว่าทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกันในแผนครั้งนี้ ทั้งนักลงทุนใหม่ และผู้ถือหุ้นเดิม โดยผู้ถือหุ้นเดิมของ AAV จะได้รับผลกระทบจากการเพิ่มทุนครั้งนี้น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับการระดมทุนรูปแบบอื่นๆ

ผมยืนยันเสมอว่าสายการบินไทยแอร์เอเชียจะยังอยู่รอด เพราะเรามีแผนและเตรียมพร้อมอยู่ตลอด ซึ่งขอให้นักลงทุนเเละผู้ใช้บริการทุกคนมั่นใจ สำหรับตัวผมยังมีพลังและพร้อมทำหน้าที่ฝ่ายบริหารของไทยแอร์เอเชียต่อไป ไม่ทิ้งกันไปไหนเเน่นอนนายธรรศพลฐ์ กล่าว