‘เนด้า’ ปักหมุด! สะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 7 ‘อำนาจเจริญ-สุวรรณเขต’ คาดศึกษาแล้วเสร็จ ก.พ.นี้

“เนด้า” ลุยศึกษาการจัดลำดับความสำคัญสร้างสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว เพิ่มเติม 3 แห่ง เคาะเลือกแห่งที่ 7 “อำนาจเจริญ-สุวรรณเขต” ทำเลงามติดแม่น้ำโขง พร้อมอัพเกรดจุดผ่านผ่อนปรน “บ้านยักษ์คุ” ดันสู่จุดผ่านแดนถาวร คาดศึกษาแล้วเสร็จภายใน ก.พ.นี้ พร้อมผุดแห่งที่ 8-9 “เลย-เวียงจันทน์” & “อุบลฯ-จำปาศักดิ์” วางแนวทางก่อนส่งต่อรัฐบาลชี้นิ้วเลือก หวังบูมขนส่งสินค้า-ท่องเที่ยว 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า หลังจากที่ได้มีการประชุมร่วมกับสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ. (เนด้า) กระทรวงการคลังนั้น ทราบว่า ในขณะนี้ เนด้าอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการศึกษาการจัดลำดับความสำคัญของการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว และการเปิดจุดผ่านแดนถาวรกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยผลการศึกษาพบว่า ประเทศไทยควรจะมีสะพานไทย-ลาว เพิ่มเติมอีก 3 แห่ง

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านเศรษฐกิจทั้งสองประเทศ และรองรับการเติบโตการขนส่งสินค้าในอนาคต ได้แก่ 1.โครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 7 (อำนาจเจริญ-สุวรรณเขต) 2.สะพานโครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 8 (เลย-เวียงจันทน์) และ 3.สะพานโครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 9 (อุบลราชธานี-จำปาศักดิ์)

โดยคาดว่าผลการศึกษาของเนด้าดังกล่าว จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายใน ก.พ. 2564 จากนั้นเนด้าจะเสนอผลการศึกษาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปพิจารณา เพื่อผลักดันให้เกิดการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวต่อไป ส่วนการจะก่อสร้างสะพานไหนก่อนนั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล อาทิ หากรัฐบาลต้องการสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 7 จ.อำนาจเจริญก่อนสามารถนำผลการศึกษาดังกล่าวไปดำเนินได้

ขณะเดียวกันต้องมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวง (ทล.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ต้องดำเนินการ นำผลการศึกษาของเนด้า ไปศึกษารายละเอียด ตำแหน่งที่ตั้ง แนวเส้นทางที่เหมาะสมทั้งฝั่งไทย และฝั่ง สปป.ลาว รวมถึงการออกแบบสะพาน รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) รูปแบบการลงทุน และกรอบเวลาดำเนินการต่อไป

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุต่ออีกว่า ตามที่รัฐบาลไทย โดยกระทรวงคมนาคม ได้ร่วมกับ สปป.ลาว ได้ผลักดันให้เกิดการดำเนินโครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาวนั้น ล่าสุดในตอนนี้ ทล.อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) วงเงินก่อสร้าง 3,930 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566

นอกจากนี้ รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ ยังได้เร่งรัดให้มีโครงการสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน) วงเงินลงทุน 4,765 ล้านบาท ซึ่งในตอนนี้ ทล. ได้สำรวจและออกแบบแล้วเสร็จ โดยรัฐบาลไทย และสปป.ลาว เตรียมประชุมหารือเกี่ยวกับการวางแผนดำเนินโครงการฯ เพื่อให้มีความชัดเจน จากนั้นให้ทั้ง 2 ประเทศ จะวางแผนดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ การดำเนินการก่อสร้างสะพานดังกล่าวนั้น จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจการค้า และการท่องเที่ยวระหว่าง 2 ประเทศให้เจริญรุ่งเรืองมากขึ้น

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุอีกว่า สำหรับสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว ที่เนด้าดำเนินการศึกษาอยู่นั้น มีรายละเอียดของแต่ละแห่ง ได้แก่ 1.สะพานโครงการสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 7 (อำนาจเจริญ-สุวรรณเขต) บริเวณจุดผ่อนปรนการค้า บ้านยักษ์คุ ต.ชานุมาน อ.ชานุมาน จ.อำนาจเจริญ

ทั้งนี้ เนื่องจาก จ.อำนาจเจริญ เป็นจังหวัดเดียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ที่อยู่ติดริมแม่น้ำโขง และยังไม่มีการสร้างสะพานเชื่อมการค้ากับ สปป.ลาว หากเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสานที่ติดริมแม่น้ำโขง มีสะพานมิตรภาพไทย-ลาวหมดแล้ว เช่น สะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์), แห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต), แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) และแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ)

ดังนั้น หากสามารถยกระดับจุดผ่านผ่อนปรนบ้านยักษ์คุเป็นจุดผ่านแดนถาวรได้ จะทำให้เป็นจุดผ่านแดนถาวรแห่งแรกของ จ.อำนาจเจริญ รวมทั้งมีการสร้างสะพานช่วยสนับสนุนการขยายตัวการค้าฝั่ง จ.อำนาจเจริญ เชื่อมต่อไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน ฝั่ง สปป.ลาว รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ได้แก่ ปราสาทวัดพู ทำให้มีการเดินทาง ขนส่งสินค้า กระตุ้นท่องเที่ยวและเศรษฐกิจทั้ง 2 ประเทศได้มากขึ้นด้วย

2.สะพานโครงการสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 8 (เลย-เวียงจันทร์) โดยจากข้อมูล พบว่า การผลักดันให้ก่อสร้างสะพานดังกล่าว ยังมีความจำเป็นน้อยอยู่ เนื่องจาก จ.เลย มีสะพานเพื่อเชื่อมต่อไปยังฝั่ง สปป.ลาว แล้ว โดยผ่านสะพานมิตรภาพแม่น้ำเหือง ขณะที่ฝั่งเวียงจันทร์ สปป.ลาว ยังมีสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 1 ที่สามารถเชื่อมต่อมายัง จ.หนองคายได้ ปัจจุบันสะพานดังกล่าว สามารถรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าทั้ง 2 ฝั่งได้ไม่มีความหนาแน่นมากนัก

และ 3.สะพานโครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 9 (อุบลราชธานี-จำปาศักดิ์) ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นเช่นกัน เนื่องจากในตอนนี้ ไทยอยู่ระหว่างการผลักดันให้เกิดการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน) หากการก่อสร้างสะพานดังกล่าวแล้วเสร็จ ทำให้ จ.อุบลราชธานี มีเส้นทางในการขนส่งครอบคลุมและเพียงพอต่อการค้าของพื้นที่ สปป.ลาวใต้ ตลอดจนสามารถขนส่งสินค้าเชื่อมต่อไปยังประเทศเวียดนามได้อีกด้วย