‘การท่าเรือฯ’ ขานรับนโยบายรัฐฯ ออก 2 มาตรการ จูงใจสายเรือ 3 เดือน แก้ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน

“การท่าเรือฯ” ขานรับนโยบายรัฐ ออก 2 มาตรการจูงใจลดค่าภาระตู้สินค้าเปล่า ผ่าน “ท่าเรือกรุงเทพ-ท่าเรือแหลมฉบัง” ดีเดย์ 3 เดือน หวังแก้ไขปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน คาดสถานการณ์ดีขึ้นช่วงไตรมาส 2/64

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงคมนาคมเร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในภาคธุรกิจขนส่งสินค้าทางทะเล โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และตนในฐานะผู้กำกับดูแลหน่วยงานภาคการขนส่งทางน้ำ จึงได้สั่งการให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564ที่ผ่านมา คณะกรรมการ (บอร์ด) การท่าเรือฯ ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งในส่วนของท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง ก่อนเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณา เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป

สำหรับแนวทางหรือมาตรการในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งในส่วนของท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบังนั้น ประกอบด้วย 2 แนวทาง ได้แก่ 1.ให้ท่าเรือกรุงเทพปรับลดค่าภาระตู้สินค้าเปล่าขาเข้า ผ่านท่าเรือกรุงเทพ ในอัตรา 1,000 บาทต่อทีอียู เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ ม.ค.-มี.ค. 2564 รวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เป็นจำนวนเงินประมาณ 5,280,000 บาท และ 2.ให้ท่าเรือแหลมฉบังชดเชยค่ายกขนตู้สินค้าให้แก่เอกชนผู้ประกอบการนำเข้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยจ่ายส่วนลดคืนในอัตรา 1,000 บาทต่อทีอียู เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ ม.ค.-มี.ค. 2564 รวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เป็นจำนวนเงินประมาณ 384,000,000 บาท

ทั้งนี้ มาตรการที่ออกมาดังกล่าวนั้น เป็นการลดอัตราค่าภาระและค่าใช้จ่าย เพื่อจูงใจให้สายเรือนำตู้คอนเทนเนอร์เปล่าเข้ามาให้บริการ เพื่อแก้ไขปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์ว่า สถานการณ์ขาดแคลนตู้สินค้าจะคลี่คลายในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2564 เนื่องจากการส่งออกของผู้ส่งออกรายใหญ่เริ่มอิ่มตัว และสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่คลี่คลายลง จะทำให้ตู้สินค้าที่ตกค้างจากประเทศปลายทาง (ยุโรปและสหรัฐอเมริกา) เริ่มหมุนเวียนกลับสู่ระบบมากขึ้น