ด่วน! ‘บีทีเอส’ ร่อนหนังสือทวงหนี้ ‘กทม.-กรุงเทพธนาคม’ รวมมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้าน ขีดเส้นตายจ่ายภายใน เม.ย 64

“บีทีเอส” ร่อนหนังสือทวงหนี้ “กทม.-กรุงเทพธนาคม” รวมเบ็ดเสร็จค่าเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย-ค่าซื้อระบบการเดินรถ มูลค่ากว่า 3 หมื่นล้าน กระทบผู้ถือหุ้น-เจ้าหนี้ พร้อมแบกภาระความเสี่ยง พ่วงปมขยายสัมปทานยังไม่ชัด ขีดเส้นตายให้จ่ายหนี้ภายใน เม.ย.64 หากเพิกเฉย จ่อดำเนินการตาม กม.

รายงานข่าวจากบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ระบุว่า วันนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2564) นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือส่งถึงกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เรื่องขอให้ชำระค่าจ้างเดินรถและค่าซื้อระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) พร้อมติดตั้ง ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย โดยได้ส่งสำเนาถึง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ด้วย

ทั้งนี้ ในหนังสือฉบับดังกล่าว มีใจความว่า ตามที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ทวงถามให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ชำระหนี้ในการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 คือ ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และส่วนต่อขยายที่ 2 คือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ซึ่งมีจำนวนรวมกันทั้งสิ้น 8,899,338,642.45 บาท (แปดพันแปดร้อยเก้าสิบเก้าล้านสามแสนสามหมื่นแปดพันหกร้อยสี่สิบสองบาท สี่สิบห้าสตางค์) ซึ่งกรุงเทพธนาคมได้มีหนังสือยอมรับสภาพหนี้ ตามที่บริษัทเรียกร้อง แต่กลับไม่มีข้อเสนอใดๆ ที่จะทำให้บริษัทมีความมั่นใจได้เลยว่า บริษัทจะได้รับชำระหนี้ที่ค้างชำระอยู่ในปัจจุบัน และในอนาคตจากกรุงเทพธนาคม หรือ กทม. ในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นเจ้าของกรุงเทพธนาคม

บริษัทเชื่อว่า ทั้งกรุงเทพธนาคม และ กทม. ต่างตระหนักเป็นอย่างดีมาระยะหนึ่งแล้วว่า หลักการของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ให้ กรุงเทพธนาคม และ กทม. เป็นผู้แบกรับความเสี่ยงในผลประกอบการ นับแต่เริ่มต้นเปิดให้บริการ การเปิดให้บริการเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายในรูปแบบปัจจุบัน ได้อาศัยเพียงการเรียกเก็บค่าโดยสารจากประชาชนในระดับประมาณ 15 บาท สำหรับการใช้บริการตลอดส่วนต่อขยายที่ 1 และไม่เรียกเก็บค่าโดยสารจากประชาชนสำหรับการใช้บริการส่วนต่อขยายที่ 2 โดยไม่มีเงินอุดหนุนจากภาครัฐ แต่มีต้นทุนที่ต้องแบกรับจากค่าจ้างในการให้บริการเดินรถ และซ่อมบำรุงนั้น และต้นทุนค่าซื้อระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล)

โดยทำให้เกิดผลขาดทุนแก่กรุงเทพธนาคม และ กทม. ตลอดมาเป็นจำนวนมาก ย่อมจะทำให้กรุงเทพธนาคม และ กทม. ไม่สามารถซ่าระหนี้ที่มีอยู่กับบริษัทฯ ได้ และกลับจะมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้นไปอีก จนถึงขั้นที่จะไม่สามารถให้บริการเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้อีกต่อไปในระยะเวลาไม่นาน เพราะบริษัทฯ ก็คงจะไม่สามารถที่จะแบกรับภาระหนี้ที่เกิดขึ้นแล้วและจะเกิดขึ้นต่อไปอีกได้

นอกจากนั้น การที่กรุงเทพธนาคม และ กทม.ได้ตัดสินใจไม่เรียกเก็บค่าโดยสารในช่วงเวลาที่ผ่านมา เนื่องจากมีความคาดหวังว่า การแก้ไขปัญหาการให้บริการเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยไม่ต้องใช้เงินอุดหนุนจากภาครัฐ แต่ใช้การแก้ไขสัญญา เพื่อให้การให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว และการเรียกเก็บค่าโดยสารจากประชาชน ทั้งในโครงการส่วนหลัก คือ ช่วงหมอซิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ถือเป็นโครงข่ายเดียวกัน จนเกิดผลดีแก่ประชาชนเพราะทำให้ค่าโดยสารที่จะเรียกเก็บตลอดสายลตลงได้เป็นจำนวนพอสมควร

และให้บริษัทเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงในผลประกอบการในระยะยาวแทนการเรียกหนี้ที่ค้างชำระเอาจาก กรุงเทพธนาคม และ กทม. ซึ่งได้มีการเจรจาสำเร็จไปแล้ว ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 ภายใต้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 312562 เรื่องการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว จะได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี โดยเร็วนั้น ก็ยิ่งทำให้กรุงเทพธนาคม และ กทม. สร้างหนี้สินกับบริษัทเพิ่มขึ้น เพราะไม่มีเงินรายได้จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในขณะที่มีภาระที่จะต้องจ่ายค่าจ้างในการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงให้แก่บริษัท

ขณะเดียวกัน บริษัททราบจากข่าวตามสื่อต่าง ๆ ว่า สัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี แต่การที่บริษัทไม่ทราบเลยว่าคณะรัฐมนตรีมีกำหนดการที่จะพิจารณาให้แล้วเสร็จเป็นประการหนึ่งประการใดเมื่อใด ซึ่งทั้งกรุงเทพธนาคม และ กทม. ก็ไม่สามารถที่จะให้ความกระจ่างแก่บริษัทได้นั้น ทำให้บริษัทต้องตกอยู่ในสภาวะที่ลำบากมากที่เป็นอยู่นี้ต่อเนื่องออกไปอีก

ทั้งนี้ บริษัทเป็นบริษัทลูกของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นประชาชนร่วมลงทุนอยู่จำนวนประมาณกว่า 101,700 ราย และมีเจ้าหนี้ที่ให้เงินกู้แก่บริษัทมาประกอบธุรกิจอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งต่างมีความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจของบริษัท

การที่กรุงเทพธนาคม และ กทม.สามารถชำระหนี้ให้แก่บริษัทได้ ซึ่งคำนวณจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 มีจำนวนถึงกว่า 8,899,338,642.45 บาท (แปดพันแปดร้อยเก้าสิบเก้าล้านสามแสนสามหมื่นแปดพันหกร้อยสี่สิบสองบาทสี่สิบห้าสตางค์) นั้น ย่อมจะสร้างความเสียหายให้แก่บริษัท รวมทั้งผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ของบริษัทเป็นอย่างมาก ซึ่งการที่บริษัทยินยอมตกลงตามหลักการของร่างสัญญาแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น ก็เพราะเห็นว่าเป็นทางออกที่จะหยุดการที่กรุงเทพธนาคม และ กทม. จะสร้างหนี้กับบริษัทเพิ่มมากขึ้นไปอีกจากการเปิดให้บริการเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายในรูปแบบปัจจุบันต่อไป โดยมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะจ่ายค่าจ้างให้แก่บริษัท

และแม้ว่าภายใต้ร่างสัญญาแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น บริษัทจะไม่ได้รับชำระหนี้ที่ค้างชำระคืนทันที แต่หากผลประกอบการเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อไปในระยะยาวดีขึ้น บริษัทซึ่งเป็นเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงในผลประกอบการและเป็นผู้ให้บริการเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเอง ก็จะมีโอกาสได้หนี้ที่ค้างชำระนี้คืนได้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นมาตรการในการแก้ไขหนี้ที่แม้จะมีความเสี่ยงกับบริษัทบ้าง แต่ก็ทำให้บริษัทอยู่ในสถานการณ์ที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมาก

ดังนั้น เมื่อไม่มีความแน่นอนว่าการดำเนินการตามร่างสัญญาแก้ไขสัญญาสัมปทาน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีนั้นจะเกิดขึ้นหรือไม่และเมื่อใด จึงไม่เป็นธรรมกับบริษัท หากกรุงเทพธนาคม และ กทม. จะอาศัยการที่บริษัทไม่ต้องการให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนอันเนื่องมาจากการหยุดให้บริการการเดินรถ ทั้งๆ ที่ไม่ได้รับค่าจ้างมาเพิกเฉยไม่ชำระหนี้ที่ค้างให้แก่บริษัท และกลับจะสร้างหนี้กับบริษัทเพิ่มมากขึ้นไปอีกจากการเปิดให้บริการเดินรถในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อไป โดยไม่มีมาตรการในการจ่ายค่าจ้างที่ค้างอยู่และที่จะเกิดขึ้นใหม่มาทำความตกลงกับบริษัทให้ชัดเจน

ตามที่พอจะอนุมานได้จากหนังสือยอมรับสภาพหนี้แต่ไม่มีข้อเสนอใดๆ ของกรุงเทพธนาคม ดังได้เรียนชี้แจงมาข้างต้นแล้วนั้นว่า บริษัทมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ของบริษัท ที่จะต้องทำการบริหารจัดการหนี้ที่ กรุงเทพธนาคม และ กทม. ค้างชำระแก่บริษัท และมีแนวทางที่ชัดเจนหากมีการที่จะต้องให้มีการสร้างหนี้เพิ่มขึ้นไปอีก โดยหนังสือฉบับนี้ บริษัทจึงขอให้กรุงเทพธนาคม และ กทม.ชำระหนี้ทั้งหมด คือ หนี้ค่าจ้างค้างซ้าระถึงวันที่ออกจดหมายฉบับนี้ ซึ่งค้างชำระมาเป็นเวลา 3 ปี 9 เดือน นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 คิดเป็นเงินประมาณ 9,602,927,927.24 บาท

และหนี้ค่าซื้อระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ที่จะถึงกำหนดชำระในเดือนมีนาคม 2564 คิดเป็นเงินประมาณ 20,768,979,836.13 บาท ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ มิฉะนั้น บริษัทมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาการใช้สิทธิตามกฎหมายและตามสัญญาของบริษัท เอากับ กรุงเทพธนาคม และ กทม. ต่อไป