‘ทางหลวงฯ’ แจงโซเชียล หลังแห่แชร์ภาพก่อสร้างทางเข้า-ออกทางขนาน ‘เลนรถวิ่งสวน’ ทล.41 ก่อนถึง ‘แยกเวียงสระ’ ยันออกแบบสนองความต้องการชุมชนในพื้นที่

“กรมทางหลวง” แจงโซเชียล กรณีการก่อสร้างทางเข้า-ออกทางขนานบน ทล.41 ก่อนถึง “แยกเวียงสระ” จ.สุราษฎร์ธานี ยันออกแบบทางขนานเป็นแบบเดินรถสวนทาง ลุยก่อสร้างรองรับการจราจรในท้องถิ่น พร้อมสนองความต้องการของชุมชนในพื้นที่ เผยตอนนี้คืบหน้ากว่า 80% สิ้นสุดสัญญา 5 ส.ค. 64 

รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) ระบุว่า ตามที่มีการเสนอข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2563 ที่ผ่านมา โดยโพสต์ข้อความถึงความกังวลของประชาชนในการก่อสร้างทางเข้า-ออก ทางขนานที่อาจเกิดอันตรายบนทางหลวงหมายเลข 41 (ถนนสายเอเชีย) บริเวณถึงก่อนโรงเรียนเวียงสระ ตำบลเวียงสระ อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีการแบ่งช่องทางออกไปทางขนานในลักษณะที่เป็นทางบริการชุมชน (Service Road) ซึ่งเป็นเลนรถสวน โดยสื่อสังคมออนไลน์ได้เสนอควรมีป้ายเตือนและประจุดบนถนนเพื่อป้องกันอุบัติเหตุนั้น

จากประเด็นดังกล่าว กรมทางหลวงได้ตรวจสอบและขอชี้แจงว่า ทางหลวงสายดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินโครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับเวียงสระ โดยลักษณะเป็นโครงการก่อสร้างสะพานบนทางหลวงหมายเลข 41 ยกระดับข้ามทางหลวงหมายเลข 4009 ซึ่งทางหลวงหมายเลข 41 เป็นทางหลวงสายหลักในพื้นที่ภาคใต้มีปริมาณจราจรหนาแน่นและ ใช้ความเร็วสูง แต่จากสภาพพื้นที่โครงการสองข้างทางเป็นย่านชุมชนและการค้า จึงจำเป็นต้องก่อสร้างทางขนาน (Frontage Road) เพื่อแยกรถท้องถิ่นออกจากรถทางหลัก (Main Road) “ซึ่งเป็นเลนรถสวน” ทำให้เกิดความปลอดภัย

ทั้งนี้ โดยทั่วไปการออกแบบทางขนานบนทางหลวงสายหลักที่มีปริมาณจราจรสูง จะเป็นแบบเดินรถทางเดียว (One way) แต่จากการประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน พบว่า ชุมชนสองข้างทาง ได้รับผลกระทบจากทางขนานแบบเดินรถทางเดียว ดังนั้น จึงออกแบบทางขนานเป็นแบบเดินรถสวนทาง (Two way) พร้อมทั้งก่อสร้างทางเข้า-ออก และจุดกลับรถระหว่างทางหลักกับทางขนาน เพื่อรองรับการจราจรในท้องถิ่น สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนในพื้นที่

โดยรูปแบบดังกล่าวเป็นรูปแบบทั่วไป มีความปลอดภัยตามหลักวิศวกรรม สามารถลดจุดตัดและลดจุดอับสายตาบริเวณทางเข้า-ออก อันเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งรูปแบบการก่อสร้างที่คล้ายคลึงกันนี้ ได้มีการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้งานแล้วหลายแห่ง เช่น บนทางหลวงหมายเลข 3701 และ 3702 บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง บนทางหลวงหมายเลข 340 บริเวณสะพานบางยี่หน เป็นต้น

สำหรับโครงการก่อสร้างดังกล่าวมีระยะทาง 11.83 กิโลเมตร (กม.) ก่อสร้างเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษ โดยเริ่มสัญญาวันที่ 19 เม.ย. 2562 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 5 ส.ค. 2564 ขณะนี้มีความคืบหน้าประมาณ 80.22% เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะมีการติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย เช่น ป้ายจราจร เส้นจราจร อุปกรณ์สะท้อนแสง ไฟฟ้าแสงสว่าง และอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยอื่นๆ เพื่อให้ผู้ใช้ทางได้รับอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย อีกทั้งยังสามารถลดผลกระทบของชุมชนในพื้นที่ได้อีกด้วย ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัย ต้องการสอบถามข้อมูล หรือต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานทางหลวง แขวงทางหลวง หมวดทางหลวงในพื้นที่ และสายด่วนกรมทางหลวง 1586 (โทรฟรีทุกเครือข่ายตลอด 24 ชั่วโมง)