เปิดโผ! บิ๊กคมนาคมใหม่ ‘ชัยวัฒน์’ ลุยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ

‘ธานินทร์’ จ่อไขก๊อกงานคมนาคม อ้างปัญหาสุขภาพ

กางโผแต่งตั้งบิ๊กคมนาคม เปิดใจ ‘ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ’ นั่งแท่นปลัดฯ ลุยขับเคลื่อนนโยบายสอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ เน้นใช้งบฯ เหมาะสม-คุ้มค่า ฟาก คนสนิท “ธานินทร์” เผยรองปลัดฯ ป้ายแดง เตรียมยื่นใบลาออก 22 ส.ค.นี้ อ้างปัญหาสุขภาพ ด้าน “อานนท์” อธิบดี ทล.คนใหม่ จ่อจุดพลุแผน PPP แสนล้าน ขณะเดียวกัน เปิดปมล้างบางคมนาคม ดันเด็ก ‘สมคิด’ ขับเคลื่อนแผนลงทุนรัฐบาลโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง วงเงินกว่า 1 ล้านล้านบาท

 

รายงานข่าวระบุว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ได้มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งข้าราชการบริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคมจำนวน 9 ราย มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561 เป็นต้นไป ได้แก่ นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม, นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงคมนาคม, นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงคมนาคม, นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สนข.

ในส่วนของนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดี ทล., นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดี ขบ., นางอัมพวัน วรรณโก ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.), นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมกรมเจ้าท่า (จท.) ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม และนายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม ไปดำรงตำแหน่งอธิบดี จท.

*ขับเคลื่อนนโยบาย สอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ*

ด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. กล่าวภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. (21 ส.ค. 2561) มีมติแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคม แทนนายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคมที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้ว่า ตนจะเดินหน้าบริหารงานและขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ให้เป็นไปตามนโยบายและยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปีของกระทรวงคมนาคม ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของชาติ ทั้งการขนส่งทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ รวมไปถึงผู้พิการและผู้สูงอายุแบบบูรณา สำหรับแนวทางขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงคมนาคมนั้น ตนจะเน้นการบริหารงานในการใช้งบประมาณให้เหมาะสม และมีความคุ้มค่ามากที่สุด

“ผมยังไม่ได้มองว่าจะขับเคลื่อนโครงการใดเป็นพิเศษ แต่ผมวางแผนในภาพใหญ่ เดินหน้าตามนโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงและของชาติให้สอดคล้องกัน ครอบคลุมบก น้ำ ราง อากาศ แล้วเมื่อภาพใหญ่เดินหน้าไปได้ ถึงจะไล่ลงมาในโครงการต่างๆ เพื่อให้เดินไปด้วยกัน ต้องคิดแผนแบบบูรณาการต่อไป” นายชัยวัฒน์ กล่าว

*”ธานินทร์” เตรียมยื่นลาออก 22 ส.ค.นี้*

ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงจากกรมทางหลวง หรือคนสนิทนายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดี ทล. กล่าวว่า นายธานินทร์ เตรียมยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งและปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งรองปลัดกระทรวงคมนาคม โดยจะมีการเข้ายื่นหนังสือในวันที่ 22 ส.ค.นี้ โดยให้เหตุผลว่ามีปัญหาด้านสุขภาพ อีกทั้งยังอยากไปพักผ่อนไม่รับตำแหน่งใดใดอีกต่อไป เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับใช้กระทรวงคมนาคมมามากกว่า 30 ปีแล้ว และมีแผนจะเกษียณอายุก่อนกำหนด (Early Retire) อยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันเหลืออายุงานเพียง 3 ปี อย่างไรก็ตาม กรณีประเด็นเรื่องที่ผิดหวังไม่ได้รับตำแหน่งปลัดกระทรวงคมนาคมหรืออึดอัดในตำแหน่งใหม่นั้นแหล่งข่าว กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่นายธานินทร์ยื่นหนังสือลาออกแต่อย่างใด

ส่วนเรื่องที่ว่าเสียดายโครงการแผนงานมากมายที่ได้ขับเคลื่อนมาหรือไม่นั้น เชื่อว่า อธิบดี ทล.รู้สึกสบายใจกับเรื่องนี้มากเพราะนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ เป็นคนที่เก่งมีความรู้ความสามารถอยู่แล้วอีกทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งรองอธิบดี ทล. มาก่อนแล้ว และจะผลักดันโครงการที่คั่งค้างอยู่ในไปได้แน่นอน เพื่อให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาว สำหรับเรื่องที่อยากจะฝากถึงอธิบดี ทล.คนใหม่นั้น คงเป็นโครงการมอเตอร์เวย์ 3 สายที่ก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ รวมถึงโครงการต่างๆที่ต้องทำตามแผนของรัฐบาล

*เร่งเคลื่อนงาน ทล. แสนล้านบาท*

ด้านนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า หลังจากนี้ตนจะรับมอบนโยบายจากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ก่อนเข้าขับเคลื่อนภารกิจในฐานะอธิบดี ทล.ต่อไป แต่เบื้องต้นคงจะต้องเร่งดำเนินโครงการเดิมตามแผนกระทรวงวงเงินรวมกันหลายแสนล้านบาท เริ่มตั้งแต่แผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระยะเร่งด่วนปี 2561 (Action Plan) ของกระทรวงคมนาคม เช่น โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยาย ดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 18 กิโลเมตร มูลค่า 2.9 หมื่นล้านบาท และโครงการทางยกระดับหมายเลข 35 เฟส 1 ช่วงบางขุนเทียน-มหาชัย วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมี เฟส 2 ช่วง มหาชัย-บ้านแพ้วและเฟส 3 ช่วง บ้านแพ้ว-วังมะนาว ขณะที่โครงการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการภาครัฐ(PPP) ตามนโยบายของรัฐบาลนั้น ต้องเดินหน้าต่อด้วยเช่นกัน อาทิ โครงการมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ วงเงิน 8 หมื่นล้านบาท โครงการมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรีที่ต้องเร่งของบเวนคืนเพิ่มเติม โครงการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี วงเงินรวม 6.1 หมื่นล้านบาท ไปจนถึงโครงการที่ของบประมาณจากรัฐบาลในปี 2561 ได้รับอนุมัติรวม 1.19 แสนล้านบาท ประกอบด้วย งบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเร่งด่วนตามแผนแอคชั่นแพลน งบลงทุนพัฒนาโครงข่ายมอเตอร์เวย์ งบลงทุนถนนสายใหม่และงบซ่อมบำรุงรักษาถนนสายเดิมรวมถึงโครงการพัฒนาถนนในพื้นที่อีอีซี 2 หมื่นล้านบาท

*ดันเด็ก “สมคิด” ลุยงานก่อนเลือกตั้ง*

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมระบุว่า การแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคมในครั้งนี้ ถูกมองว่ามีการพลิกโผกันยกใหญ่หลังจากที่ตัวเกร็งหลายตำแหน่งหลุดโผนั่งเก้าอี้หัวหน้าหน่วย แต่ผู้ได้รับการแต่งตั้ง กลับเป็นม้ามืดจากแผนของฝ่ายนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ต้องการแต่งตั้งทีมงานฝ่ายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีให้เข้ามาขับเคลื่อนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงโครงการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP ที่ต้องเร่งดำเนินการก่อสร้างและเปิดประมูลให้ทันภายในรัฐบาลชุดนี้ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ

สำหรับการแต่งตั้งนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งอธิบดี ทล.นั้นเป็นการตบรางวัล ที่สามารถผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน และรถไฟทางคู่ได้สำเร็จ สมัยดำรงตำแหน่งรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขณะที่นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ก็เป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์เรื่องแผนพัฒนารถไฟความเร็วสูงและแก้ปัญหาจราจร ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของ สนข.

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ได้มีการตั้งสามทหารเสือของนายสมคิด เข้ามากุมบังเหียนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจกระทรวงคมนาคม 3 แห่ง ได้แก่ นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), นายสุรงค์ บูลกุล ประธานบอร์ดการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และนายกุลิศ สมบัติศิริ ประธานบอร์ด รฟท. สำหรับโครงการที่คาดว่า กระทรวงคมนาคมจะต้องเร่งผลักดันในช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาลชุดนี้ วงเงินลงทุนมากกว่า 1 ล้านล้านบาท

โดยโครงการต่างๆ นั้น เริ่มจากโครงการ PPP อย่างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ, โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์, โครงการรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) จ.ภูเก็ต, โครงการรถไฟฟ้าแทรม จ.เชียงใหม่ โครงการมอเตอร์เวย์นครปฐม-ชะอำ, โครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 โครงการทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง และโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ (N2) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-เชียงใหม่ วงเงินมากกว่า 4 แสนล้านบาท รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-หัวหิน วงเงิน 1 แสนล้านบาท และโครงการรถไฟทางคู่เฟส 2