กางผลงาน 1 ปี ‘อธิรัฐ’ รมช.คมนาคม ลุยโปรเจ็กต์ ‘กรมเจ้าท่า-การท่าเรือฯ’ สนองยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มุ่งเน้นขนส่งทางน้ำเชื่อมรูปแบบอื่น

“อธิรัฐ” เปิดผลงาน 1 ปี นั่ง รมช.คมนาคม ลุยงานสนองยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เดินหน้าโปรเจ็กต์ “กรมเจ้าท่า-การท่าเรือฯ” ตามนโยบายส่งเสริมขนส่งทางน้ำเชื่อมระบบขนส่งอื่น พร้อมอัพเดทแผนปรับปรุงท่าเรือ-หนุนเรือไฟฟ้า-ขุดลอกร่องน้ำ-ทลฉ.เฟส 3-พัฒนาท่าเรือภูมิภาค-ชุมชนคลองเตย

นายอธิรัฐ  รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงผลงานสำคัญในรอบ 1 ปี (2562 -2563) ในการกำกับ ดูแลว่า ตามที่รัฐบาลได้กำหนดแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2563 ให้ส่วนราชการกำหนดเป้าหมายและโครงการสำคัญร่วมกันนั้น โดย 1 ปีที่ผ่านมา ตนในฐานะได้กำกับดูแลกรมเจ้าท่า (จท.) และการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้บริหารตามแนวนโยบายการที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำ และการพาณิชยนาวี ให้มีการเชื่อมต่อกับระบบการขนส่งอื่นๆ ทั้งการขนส่งผู้โดยสาร และสินค้า ท่าเรือ อู่เรือ กองเรือไทย และกิจการเกี่ยวเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ทั่วถึงและปลอดภัย

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนภาคการส่งออกให้มีความเข้มแข็ง รวมถึงการช่วยรักษาสภาพทางชลศาสตร์ที่ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งได้อีกทางหนึ่ง และการเข้มงวดในมาตรการป้องกันการแพร่ของไวรัสโคโรน่า (COVID-19) การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ ดำเนินงานตามการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำอย่างต่อเนื่อง การเตรียมความพร้อมสำหรับการตรวจประเมินขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) ในปี 2564 เพื่อบรรลุผลสำเร็จทั่วโลกอันเป็นมาตรการหนึ่งในการเสริมสร้างความปลอดภัยทางทะเลและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล  เป็นต้น

นายอธิรัฐ กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของกรมเจ้าท่า (จท.) นั้น ได้ดำเนินการพัฒนาท่าเรือโดยสาร และเชื่อมต่อรถ-ราง-เรือ ได้แก่ ท่าเรือคลองแสนแสบ  27 ท่าเรือ เปิดให้บริการ มี 25 ท่าเรือ ติดตั้งจอ TV แสดงข้อมูลเที่ยวเรือ มีการติดตั้งจอ TV และ Free WiFi บริเวณท่าเรือโดยสารทุกท่าเรือ รวมถึงป้ายประชาสัมพันธ์ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณของทางราชการ อีกทั้งยังติดตั้ง GPS บนเรือ มี Application แสดงข้อมูลเที่ยวเรือ พร้อมทั้งปรับปรุงทางเดินเข้าท่าเทียบเรือ/โป๊ะเทียบเรือ ให้สะดวก ปลอดภัย สำหรับท่าเรือคลองแสนแสบนั้น เชื่อมต่อรถไฟฟ้า มี 4 จุด ประกอบด้วย 1.ท่าเรือราม 1 (เชื่อมสายสีน้ำเงิน) 2.ท่าเรืออโศก (เชื่อมสายสีน้ำเงิน) 3.ท่าเรือสะพานหัวช้าง (เชื่อมสายสีเขียว) และ4.ท่าเรือสะพานตากสิน-เพชรเกษม (เชื่อมสายสีเขียว)

ขณะที่ ท่าเรือแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ระหว่างปรับปรุงเป็นสถานีเรือ 39 ท่าเรือ (10 ท่าเรือ เอกชนปรับปรุง) สามารถเชื่อมต่อรถไฟฟ้า 5 จุด ทั้งนี้ มีการดำเนินการสถานีเรือ (SMART PIER) คล้ายสถานีรถไฟฟ้า บริหารจัดการพื้นที่ให้เป็นระบบปิด และมีการให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้โดยสาร เช่น ระบบตั๋วร่วม E-ticket ให้ข้อมูลการเดินทางขึ้นจอทีวีด้วยระบบ GIS  มีระบบควบคุมจำนวนคนลงเรือด้วยระบบ AI เป็นต้น โดยจะต้องเสนอ ครม. เพื่อเห็นชอบให้เอกชนเข้าบริหารจัดการเชิงพาณิชย์ และพัฒนาระบบฯ โดยได้รับสัมปทานจากกรมธนารักษ์ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ยังไม่มีท่าเรือใดเป็นสถานีเรือ แต่มีแผนปรับปรุงท่าเรือเดิมรองรับเป็นสถานีเรือ และติดตั้งงานระบบ ดังนี้

  • เสร็จแล้ว 1 ท่าเรือ ด้านโครงสร้าง คือ ท่าเรือกรมเจ้าท่า (เป็นท่าต้นแบบ) ติดตั้งงานระบบและเปิดเป็นสถานีเรือปี 2566
  • อยู่ระหว่างปรับปรุง 5 ท่าเรือ คือ ท่าช้าง (แล้วเสร็จ ธ.ค. 2563) ท่าเตียน (แล้วเสร็จ พ.ย. 2563) ท่าสาทร (เชื่อมสายสีเขียว แล้วเสร็จ ธ.ค. 2563) ท่าราชินี (เชื่อมสายสีน้ำเงิน แล้วเสร็จ ธ.ค. 2563) และท่าเรือวัดโพธิ์ (แล้วเสร็จ ต.ค. 2563) ติดตั้งงานระบบและเปิดเป็นสถานีเรือปี 2566
  • ของบปี 2564 จำนวน 2 ท่าเรือ คือ ท่าเกียกกาย (เชื่อมสายสีม่วง) และท่าบางโพ (เชื่อมสายสีน้ำเงิน) ติดตั้งงานระบบและเปิดเป็นสถานีเรือปี 2566
  • ของบปี 2565 จำนวน 12 ท่าเรือ คือ ท่าพิบูลสงคราม 3, ท่าพระราม 5, ท่าพระราม 7 (เชื่อมสายสีแดง), ท่าเขียวไข่กา, ท่าพายัพ, ท่าสะพานกรุงธน, ท่าเทเวศร์, ท่าพระปิ่นเกล้า, ท่าพรานนก, ท่าสะพานพุทธ, ท่าราชวงศ์ และท่าสี่พระยา ติดตั้งงานระบบและเปิดเป็นสถานีเรือปี 2566
  • ของบปี 2566 จำนวน 10 ท่าเรือ คือ ท่าปากเกร็ด (เชื่อมสายสีชมพู), ท่าพิบูลสงคราม 3 (ท่าน้ำนนทบุรี), ท่าวัดตึก, ท่าพิบูลสงคราม 1, ท่าวัดสร้อยทอง, ท่าวัดเทพากร, ท่าวัดเทพนารี, ท่ารถไฟ, ท่าโอเรียนเต็ล และท่าวัดเศวตฉัตรวรวิหาร ติดตั้งงานระบบและเปิดเป็นสถานีเรือปี 2567
  • ท่าเรือพระนั่งเกล้า (เชื่อมสายสีม่วง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเป็นผู้ดำเนินการ

ทั้งนี้ ได้ส่งเสริมผู้ประกอบการให้บริการเรือด่วนเจ้าพระยาติดแอร์เป็นทางเลือกประชาชน นนทบุรี-สาทร ย่นระยะเวลา 30 นาที เชื่อมต่อรถไฟฟ้า 8 ท่าเรือ โดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการ ขณะที่ ท่าเทียบเรือภายในประเทศนั้น จะติดตั้งระบบ CCTV บริเวณท่าเทียบเรือทั่วประเทศ 580 ท่าเรือ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณของทางราชการ จะประหยัดงบประมาณได้กว่า 580 ล้านบาท ได้ดำเนินการแล้ว 438 ท่าเรือ และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 142 ท่าเรือ คาดว่าจะแล้วเสร็จในสิ้นปี 2563

นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการเสริมชายหาด เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยได้ดำเนินการแล้ว คือ ชายหาดพัทยา ความยาว 2,800 เมตร ได้พื้นที่ชายหาดเพิ่มขึ้น 98,000 ตร.ม. และอยู่ระหว่างดำเนินการชายหาดนาจอมเทียน แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 (ปี 2563-2565) ความยาว 3,575 เมตร และระยะที่ 2 (ปี 2565-2567) ความยาว 2,855 เมตร รวมถึงเตรียมของบประมาณ ปี 2565 เพื่อเสริมทรายชายหาดบางแสน

นายอธิรัฐ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาเรือไฟฟ้า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สืบเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายการใช้พลังงานสะอาดนั้น กรมเจ้าท่าร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิจัยเรือไฟฟ้าต้นแบบ (คลองแสนแสบ) ซึ่งเมื่อได้ผลดี จะพิจารณาแผนการให้บริการเพิ่มเติม โดยรัฐบาลจะสนับสนุนให้เอกชนเปลี่ยนเรือมาใช้พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น ขณะที่ ภาคเอกชน เล็งเห็นภาครัฐส่งเสริมเรือไฟฟ้า จึงจัดสร้างเรือไฟฟ้า เช่น บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) (แม่น้ำเจ้าพระยา) มีแผนจัดหา 42 ลำ ในปี 2565 แต่สถานการณ์โควิด-19 ปรับลดเหลือ 27 ลำ และโครงการ MOU เรือไฟฟ้าระหว่างกรมเจ้าท่ากับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทดลองใช้แล้ว 1 ลำ เป็นเรือท่องเที่ยวที่ภูเก็ต อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน กรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้บริการในคลองผดุงกรุงเกษม 1 ลำ มีเป้าหมายเพิ่ม 19 ลำ ภายใน 17 เดือน คาดว่าให้บริการในปี 2565  และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ให้บริการ 1 ลำ และมีแผนจัดหาให้ครบ 8 ลำ ภายในเดือน พ.ย. 2563

ในด้านการขุดลอก บำรุงรักษาร่องน้ำและแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งนั้น ได้ดำเนินการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำเศรษฐกิจ ปี 2562-2563 โดยดำเนินการแล้ว 12 ร่องน้ำ 12 จังหวัด เนื้อดินประมาณ 18.5 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ ขุดลอกพัฒนาและบำรุงรักษาร่องน้ำ (แผนบูรณาการจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ปี 2562-2563) จำนวน 33 ร่องน้ำ  29 จังหวัด เนื้อดินประมาณ 13.53 ล้าน ลบ.ม. อีกทั้งได้ขุดลอกต่างตอบแทนแก้ปัญหาภัยแล้ง เป็นนโยบายของรัฐบาลเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ แก้ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย โดยไม่ต้องใช้งบประมาณราชการ ซึ่งปี 2563 มีแผนขุดลอกแม่น้ำสายใหญ่และสำคัญทั้งหมด 43 แหล่งน้ำ ใน 51 จังหวัด รวม 106 แห่ง ปริมาณดินขุดรวม 5.4 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ ได้ออกใบอนุญาตแล้ว 61 แห่ง ปริมาณดินขุด 2.605 ล้าน ลบ.ม. อยู่ระหว่างยื่นขออนุญาต 45 แห่ง ปริมาณดินขุด 2.734 ล้าน ลบ.ม. สามารถประหยัดงบประมาณขุดลอกของทางราชการได้ประมาณ 293 ล้านบาท

นายอธิรัฐ ยังกล่าวถึงผลงานในฐานะกำกับดูแลการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ว่า ในส่วนของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ได้ดำเนินการสรรหาเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ได้กลุ่มเอกชนที่ผ่านการพิจารณาแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่าง กทท. นำผลการเจรจาของคณะกรรมการคัดเลือกฯ เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อให้ความเห็นชอบผลประโยชน์ตอบแทนของโครงการฯ เพื่อเสนอต่อ ครม. พิจารณาต่อไป คาดว่าจะประกาศผู้ชนะได้ภายในปี 2563 ขณะที่ การสรรหาผู้รับจ้างก่อสร้าง พร้อมจัดหาและติดตั้งเครื่องมือยกขนหลัก (ส่วนที่ 1) งานก่อสร้างงานทางทะเล ขณะนี้อยู่ระหว่างคณะกรรมการฯ พิจารณาผลผู้ได้รับคัดเลือก ซึ่งจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายใน ต.ค. 2563 ในด้านการสรรหาผู้รับจ้างก่อสร้าง (ส่วนที่ 2) งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง กำหนดยื่นข้อเสนอและเสนอราคาในวันที่ 17 ส.ค. 2563 และจะเริ่มดำเนินการได้ภายในสิ้นปี 2563

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ที่ท่าเรือแหลมฉบังนั้น งานก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง และติดตั้งเครื่องมือยกขนหลักได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว โดยเปิดให้บริการตั้งแต่ 27 ม.ค. 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการรอคอยเข้าใช้บริการท่าเทียบเรือ และช่วยลดค่าภาระฝากเก็บตู้สินค้ากับเจ้าของตู้สินค้าได้ ขณะที่ โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง (SRTO) แบ่งเป็น แผนระยะ 1 อยู่ระหว่างการสรรหาเอกชนให้เคลื่อนย้ายตู้สินค้า คาดว่าจะได้ผู้รับจ้างภายในเดือน ธ.ค. 2563 และแผนระยะ 2 งานจ้างเหมาสร้างรถคานเคลื่อนที่ยกตู้สินค้าชนิดเดินบนราง (RMG) และจ้างเหมาสร้างรถคานเคลื่อนที่ยกตู้สินค้าชนิดล้อยาง (RTG) ขณะนี้อยู่ระหว่างคณะกรรมการจัดทำร่าง TOR และเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติงบประมาณประจำปี 2564

ขณะเดียวกัน โครงการพัฒนาศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการของท่าเรือระนอง ได้ปรับปรุงท่าเทียบเรือ 1 และ 2 เพิ่มขีดความสามารถรองรับเรือบรรทุกสินค้า จากเดิม 1,000 เดทเวทตัน เป็นขนาด 12,000 เดทเวทตัน เรียบร้อยแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตั้งยางกันกระแทก และสามารถเปิดใช้ท่าที่ 1 และ 2 ได้ทันที ในส่วนของงานจ้างที่ปรึกษาสำรวจออกแบบและศึกษา EIA การพัฒนาศักยภาพท่าเรือฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดหาผู้รับจ้าง ซึ่งจะเริ่มศึกษาภายใน ต.ค. 2563 แล้วเสร็จภายในปี 2564 ก่อนนำผลการศึกษาเป็นแนวทางในการพัฒนาท่าเทียบเรือที่ 3 ต่อไป

นอกจากนี้ การพัฒนาท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนและท่าเรือเชียงของ กระทรวงคมนาคมได้ตั้งคณะทำงานแล้ว โดยมีภาครัฐและเอกชนในเชียงราย รวมถึง กทท. เพื่อหาแนวทางการพัฒนาท่าเรือฯ แนวทางเพิ่มรายได้ ทั้งประเภทและปริมาณสินค้า การบริการด้านอื่นๆ เช่น เรือท่องเที่ยว ให้เอกชนเข้าเช่าพื้นที่ฯ ในส่วนของท่าเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ จังหวัดตราด อยู่ระหว่าง กทท. เสนอเรื่องการเข้าบริหารและประกอบการท่าเรือคลองใหญ่ ต่อคณะกรรมการฝ่ายบริหาร และคณะกรรมการ กทท. พิจารณา ให้ความเห็นชอบ ภายในเดือน ส.ค.-ก.ย. 2563 ก่อนเสนอ คค. ประมวลสรุปเรื่องเสนอ ครม. พิจารณาต่อไป ซึ่งคาดว่า กทท. จะเข้าบริหารท่าฯ ได้ในปี 2564

ขณะที่ โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community) นั้น ในขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจความต้องการที่แท้จริงของผู้อยู่อาศัยในชุมชนคลองเตยทั้ง 26 ชุมชนเพิ่มเติม โดยรายงาน EIA คาดว่าแล้วเสร็จในเดือน ก.ย. 2564 และการศึกษาออกแบบงานสถาปัตยกรรม/วิศวกรรมโครงสร้าง พร้อมงานระบบ ระยะที่ 1 (อาคารที่พักอาศัยที่ 1 และอาคารบริวาร) แล้วเสร็จใน มิ.ย. 2564