‘เจ้าท่าฯ’ เปิดโฉม ‘เรือไฟฟ้าต้นแบบ’ เตรียมแล่นเจ้าพระยาให้บริการประชาชน ธ.ค.นี้ พ่วงขยายไปจังหวัดท่องเที่ยวภาคใต้ ประเดิม ‘ภูเก็ต’ พร้อมเล็งเปิดเส้นทางรอบ กทม.เพิ่ม

“กรมเจ้าท่า” เปิดตัวเรือไฟฟ้าต้นแบบ เตรียมแล่นเจ้าพระยาให้บริการประชาชน ธ.ค.นี้ ลั่นช่วยให้ค่าโดยสารถูกลงในอนาคต เชื่อต้นทุนผู้ประกอบการถูกลงกว่าน้ำมัน 40% จ่อขยายเรือไฟฟ้าไปยังจังหวัดท่องเที่ยว ประเดิม “ภูเก็ต” ปีนี้ นำร่อง 30 ลำก่อนเพิ่มเป็น 200 ลำในอนาคต ด้าน “อธิบดี จท.” เผย เตรียมเปิดเส้นทางรอบนอกใหม่ ดันฮับ “ท่าเรือสาทร” เชื่อม “นนทบุรี-ปทุมธานี-สมุทรปราการ” พ่วงระบบรถไฟฟ้า

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 161 ปี กรมเจ้าท่า (จท.) ว่า งานครบรอบในวันนี้ (5 ส.ค. 2563) ได้นำเรือไฟฟ้ามาแสดง โดยเป็นของบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด ความยาวลำเรือ 20 เมตร ความกว้าง 6.3 เมตร กินน้ำลึก 2.35 เมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 78 คน

สำหรับเรือไฟฟ้าที่จะนำมาให้บริการในแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ดำเนินโครงการโดยบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA คือ เรือไฟฟ้า MINE Smart Ferry ขับเคลื่อนจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ขนาด 800 KWh สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 200 คน ซึ่งขณะนี้ต่อเสร็จแล้วจำนวน 1 ลำ และมีแผนดำเนินการต่อเรือเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2563 จำนวน 15 ลำ ภายใน มี.ค. 2564 จำนวน 12 ลำ รวมจำนวนทั้งสิ้น 28 ลำ ทั้งนี้ เป็นเรือโดยสารให้บริการรับ-ส่งในแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมด ซึ่งจะเริ่มนำเรือไฟฟ้าออกให้บริการผู้โดยสารได้ภายใน ธ.ค. 2563

ในส่วนของข้อดีของเรือไฟฟ้านั้น จะช่วยยกระดับการให้บริการทั้งความสะดวกสบายด้วยการติดแอร์ เน้นความสะอาดและการออกแบบที่ปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสาร อีกทั้งยังประหยัดต้นทุนด้านพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 เนื่องจากขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าจากพลังงานจากแบตเตอรี่ซึ่งดีกว่าน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงเพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้เรือโดยสารมากขึ้นเพื่อเลี่ยงปัญหาการจราจรติดขัด

ด้านนายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) กล่าวว่า การทดสอบเรือไฟฟ้าในวันนี้ (5 ส.ค. 2563) ภาพรวมถือว่าน่าพอใจ และจะมีการปรับปรุงระบบอีกเล็กน้อย โดยหลังจากผ่านการทดสอบแล้ว ในปลายปี 2563 จะมีการนำเรือไฟฟ้าไปให้บริการทางทะเลในจังหวัดท่องเที่ยว เช่น จังหวัดภูเก็ต ,กระบี่ และพังงา โดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ตในปลายปีนี้ คาดว่าจะมีเรือไฟฟ้าให้บริการ 30 ลำ และในอนาคตจะมีเรือให้บริการในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวดังกล่าว ประมาณ 200 ลำ

นอกจากนี้ จะมีการพัฒนาเรือไฟฟ้ามาวิ่งให้บริการไปแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งบริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด ผู้ให้บริการเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา ก็พร้อมมีการปรับเปลี่ยนเรือมาใช้เรือพลังงานไฟฟ้าที่ทำจากอลูมิเนียม  โดยจะมีการเปลี่ยนจากเรือไม้ตามรอบที่หมดอายุ โดยคาดว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปลายปี 2563 เป็นต้นไป

นายวิทยา กล่าวต่ออีกว่า ในอนาคต จท. เตรียมที่จะมีการเปิดเส้นทางเดินเรือใหม่ เพื่อรองรับการให้บริการแก่ประชาชนในจังหวัดรอบนอกมากขึ้น ซึ่งจากเดิมเอกชนมีการเดินเรือจากท่าเรือสาทรไปยังจังหวัดนนทบุรี และอำเภอปากเกร็ด นอกจากนี้ จะมีการขยายถึงจังหวัดปทุมธานี และขยายไปถึงจังหวัดสมุทรปราการด้วย โดยใช้ท่าเรือสาทร เป็นศูนย์กลางระหว่าง 2 ฝั่ง เนื่องจากเป็นท่าเรือที่มีบริการเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้า เบื้องต้นท่าเรือที่เชื่อมรถไฟฟ้ามี 6 ท่าเรือ ประกอบด้วย ท่าเรือพระนั่งเกล้า, ท่าเรือบางโพ, ท่าเรือราชินี, ท่าเรือเจ้าท่า, ท่าเรือสาทร และท่าเรือปิ่นเกล้า ซึ่งการเปิดเส้นทางเดินเรือใหม่นี้ ก็จะพยายามผลักดันให้มีการใช้พลังงานไฟฟ้าด้วย

สำหรับการนำเรือไฟฟ้าที่ผลิตจากอลูมิเนียมมาให้บริการเรือโดยสาร เชื่อว่าในอนาคตจะมีส่วนสำคัญทำให้ค่าโดยสารของเรือโดยสารถูกลง แม้ขณะนี้ต้นทุนในการเดินเรือไฟฟ้า จะมีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่ในราคาสูง แต่ทิศทางของแบตเตอรี่ก็มีราคาถูกลงเรื่อยๆ ขณะที่ การใช้เรืออลูมิเนียมจะมีข้อดี เมื่อเปรียบเทียบกับเรือไม้ ในเรื่องของต้นทุนบำรุงรักษา รวมทั้งสภาพตัวเรือที่มีน้ำหนักเบา จะช่วยให้ผู้ประกอบการที่ใช้เรือไฟฟ้าผลิตจากอลูมิเนียม มีต้นทุนเชื้อเพลิงถูกกว่าเรือใช้น้ำมันถึง 40%