‘คมนาคม’ ทบทวน (ร่าง) แผนแม่บทห้วงอากาศและการเดินอากาศแห่งชาติ ให้สอดรับสถานการณ์ ‘โควิด-19’ เตรียมชง ‘ศักดิ์สยาม’ เห็นชอบแผนฯ 20 ก.ค. นี้

“คมนาคม” ทบทวน (ร่าง) แผนแม่บทห้วงอากาศและการเดินอากาศแห่งชาติ ให้สอดรับสถานการณ์ “โควิด-19” หลัง เม.ย.-พ.ค. 63 การจราจรทางอากาศหาย 90% เตรียมชง “ศักดิ์สยาม” เห็นชอบแผนฯ 20 ก.ค. นี้ พร้อมพิจารณาต่อใบอนุญาต AOL 4 สายการบิน ด้าน “ปลัด คค.” เผย กพท. เร่งตรวจสอบ “นกสกู๊ต” ก่อนยกเลิกประกอบกิจการตาม กม.

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ว่า ที่ประชุมมีการพิจารณาทบทวน (ร่าง) แผนแม่บทห้วงอากาศและการเดินอากาศแห่งชาติ ซึ่งเป็นการทบทวนทุกๆ 3 ปี ทั้งนี้ เพื่อบริหารจัดการห้วงอากาศและความมั่นคงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อใช้ประโยชน์จากน่านฟ้า และวางแผนการดำเนินการว่า หากเกิดสถานการณ์ที่การจราจรทางอากาศหายไปนั้น จะดำเนินการอย่างไรในอนาคต เนื่องจากการแพร่ระบาดดังกล่าวนั้น ส่งผลให้การจราจรทางอากาศ ทั้งเส้นทางในประเทศและต่างประเทศ ในช่วง เม.ย.-พ.ค. 2563 ที่ผ่านมาหายไปกว่า 90% อย่างไรก็ตาม จะมีการนำเสนอร่างแผนแม่บทดังกล่าว ให้คณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) โดยมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นประธานพิจารณาเห็นชอบที่จะมีการประชุมในวันที่ 20 ก.ค.นี้ ก่อนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำไปใช้ต่อไป อาทิ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.), กองทัพอากาศ (ทอ.) และสายการบินต่างๆ

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังมีการรับทราบการขอต่อใบอนุญาตประกอบกิจการการค้าขายการเดินอากาศ (AOL) จำนวน 4 สายการบิน ที่จะครบกำหนดอายุในเร็วๆ นี้ พร้อมทั้งการออกใบอนุญาตใหม่ 1 สายการบิน โดยสายการบินดังกล่าวนั้น จะเป็นสายการบินไม่ประจำ หรือเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำ หรือประกอบกิจการพาณิชย์อย่างอื่น เช่น เพื่อการท่องเที่ยว เป็นต้น โดยในระหว่างนี้ กพท. จะมีการตรวจสอบความพร้อมในการขอใบอนุญาตว่า อยู่ในช่วงเวลาที่กำหนดหรือไม่ รวมถึงทุนจดทะเบียนจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ ก่อนที่จะมีการนำเสนอ กบร. ต่อไป

นายชัยวัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของแผนแม่บทการพัฒนาสนามบินนั้น ในขณะนี้อยู่ระหว่างการทบทวน และรับฟังความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กพท., กรมท่าอากาศยาน (ทย.), บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท., สายการบินต่างๆ, ผู้ประกอบการสายการบินเอกชน เป็นต้น ทั้งนี้ การทบทวนแผนแม่บทดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ว่ายุทธศาสตร์ที่เคยกำหนดไว้ ควรจะต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่

ขณะที่ ในกรณีที่คณะกรรมการของสายการบินนกสกู๊ต ได้มีมติเลิกกิจการเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา จากสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่รุนแรง และการระบาดของโควิด-19 ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงอย่างรุนแรงนั้น ล่าสุด กพท. อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียด พร้อมทั้งพิจารณาหลักเกณฑ์อย่างละเอียด ทั้งในส่วนของหนี้สินทั้งหมด อาทิ ค่าตั๋ว ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าเช่าพื้นที่สนามบิน ก่อนที่จะมีการยกเลิกใบอนุญาต ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขและกฎหมายที่กำหนด