‘ผู้ว่ารถไฟฯ’ ตั้งโจทย์ 4 ปีในตำแหน่ง เร่งบริหารจัดการ-ปั้นรายได้จากที่ดินกว่า 2 หมื่นไร่ เล็งประเดิมพื้นที่สถานีใหญ่ ‘ขอนแก่น-โคราช’ วางเป้ารูปธรรมภายในปีนี้

“นิรุฒ” ผู้ว่ารถไฟฯ ลุยปั้นรายได้ที่ดินรถไฟ 2 หมื่นไร่ เล็งพื้นที่สถานีใหญ่ “ขอนแก่น-โคราช” วางเป้ารูปธรรมปีนี้ พร้อมเตรียมลงดาบผู้บุกรุกเขตทางรถไฟ เน้นย้ำความปลอดภัย จ่อถก “กรุงไทย” ผุดแอปจ่ายค่าเช่า หวังล้อมคอกเงินรั่วไหล

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่มาตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา ภายหลังเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2563 นั้น ได้พบว่าการรถไฟฯ มีโอกาสที่จะสร้างประโยชน์จากที่ดิน และนำมาดำเนินการให้เป็นรูปธรรมในการบริหารทรัพย์สินเพื่อเพิ่มมูลค่าในพื้นที่กว่า 20,000 ไร่ จากที่ดินที่ รฟท. มีทั่วประเทศกว่า 240,000 ไร่ โดยเฉพาะพื้นที่มีศักยภาพ ในเส้นทางภาคตะวันออกเชื่อมต่อท่าเรือแหลมฉบัง สถานีรถไฟขอนแก่น สถานีรถไฟนครราชสีมา

ทั้งนี้ การสร้างรายได้จากที่ดินของการรไฟฯ จึงเป็นโจทย์ที่ตนในฐานะผู้ว่าการรถไฟฯ 4 ปี ต้องเข้ามาบริหารจัดการ และจัดลำดับความสำคัญ เนื่องจากมีรายได้จากการเก็บค่าเช่าเพียงปีละ 2,000-3,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก โดยหลังจากนี้จะเข้าไปดูและปรับการบริหารจัดการทรัพย์สินให้เพิ่มมูลค่ามากขึ้น ซึ่งจะเห็นเป็นรูปธรรมในปีนี้ ทั้งเรื่องการปรับค่าเช่าบางพื้นที่ ลดขั้นตอนการบริหารจัดการ เป็นต้น

นอกจากนั้น ในส่วนของพื้นที่บุกรุกตามเขตทางรถไฟ ยอมรับว่ามีหลายพื้นที่ที่มีการบุกรุก และมีการจ่ายค่าเช่าที่ไม่เข้ารถไฟโดยตรง ซึ่งตรงนี้ยอมรับว่า ไม่สามารถยอมได้ ดังนั้นต้องเข้าไปจัดระบียบ บริหารจัดการให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมขึ้น จะมีการประสานกับธนาคารกรุงไทย เพื่อให้เข้ามาจัดระบบการจ่ายเงินค่าเช่าผ่านธนาคารหรือผ่านแอปพลิเคชั่น เพื่อให้ผู้เช่าที่ พื้นที่ของรถไฟจ่ายค่าเช่าผ่านแอปพลิเคชั่นตรง ซึ่งส่วนนี้จะทำให้เงินไม่รั่วไหล โดยเรื่องนี้จะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. เร็วๆ นี้

ในส่วนกรณีพื้นที่ตลาดที่อยู๋ตามเขตทางรถไฟนั้น นายนิรุฒ กล่าวว่า บางพื้นที่ต้องจัดระเบียบใหม่ โดยเฉพาะในเส้นทางวงเวียนใหญ่-มหาชัย-แม่กลอง และเส้นทางกาญจนบุรี เนื่องจากไม่ปลอดภัยต่อการเดินรถไฟ เนื่องจากติดเขตทาง รางรถไฟ เช่น ตลาดคลองตัน ส่วนตลาดร่มหุบ แม่กลองนั้น ถือเป็นอันซีนเมืองไทยจะยังมีอยู่แต่จะเข้าไปจัดระเบียบให้เรียบร้อย แต่ยังคงต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่