‘คมนาคม’ ถกร่วม JETRO-JCC ชูพื้นที่ EEC ครอบคลุมบก-น้ำ-ราง-อากาศ หวังสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนญี่ปุ่น หลังโควิด-19 ฉุดความมั่นใจ

“ศักดิ์สยาม” ถกร่วม JETRO-JCC ชูพื้นที่ EEC ครอบคลุมบก-น้ำ-ราง-อากาศ หวังสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนญี่ปุ่น หลังโควิด-19 ฉุดความมั่นใจ พร้อมกางแผนพัฒนาพื้นที่เหนือ-อีสาน-ใต้-ตะวันตก เสริมแกร่งขนส่งคน-สินค้า

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) และหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) ถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศไทยเป็นจุดที่ทำให้เกิดการลงทุน หลังจากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นใจของนักลงทุน แต่ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ตนจึงได้นำเสนอการดำเนินการของรัฐบาล หยิบยกตัวอย่างพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่รัฐบาลไทยได้ดำเนินการเป็นรูปธรรมแล้ว ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่คาดว่าแล้วเสร็จภายในปี 2568 รวมถึงโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาและเมืองการบิน ที่ได้ลงนามสัญญาก่อสร้างไปเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ยังได้เสนอ JETRO และ JCC อีกว่า ในพื้นที่ EEC นั้น ยังมีโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ที่อยู่ระหว่างการต่อรองราคา ซึ่งเชื่อว่า จะเดินหน้าได้ภายใน 2 เดือนนี้ และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 ที่ได้เปิดทดลองวิ่งส่วนต่อขยาย ช่วงพัทยา-มาบตาพุดไปแล้ว และเตรียมขยายเชื่อมต่อไปยังสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 7 กิโลเมตร ตามข้อสั่งการของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งถือว่าครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ โดยโครงการทั้งหมดนั้น จะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จได้ทันในปี 2568

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ได้แจ้ง JETRO และ JCC ว่า นอกจากพื้นที่ EEC แล้ว นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) พิจารณาเพิ่มเขตพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคตะวันตก โดยเฉพาะในภาคใต้ที่จะมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกอันดามัน-อ่าวไทย เชื่อมรถไฟทางคู่ เพื่อขนถ่ายตู้สินค้า โดยจะช่วยประหยัดระยะเวลาเดินทางจากแหลมญวน-มะละกา-อินเดีย เหลือเวลาไม่เกิน 40 นาที จากปกติ 2 วันครึ่ง ซึ่งจะช่วยสร้างศักยภาพให้ประเทศไทย ทั้งการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า รวมถึงจะเชื่อมต่อกับท่าเรือแหลมฉบังด้วย

ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรียังได้สั่งการให้ไปพิจารณาในการพัฒนาโลจิสติกส์ เนื่องจากไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน โดยมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กรมทางหลวง (ทล.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปบูรณาการก่อสร้างทางรถไฟร่วมกับมอเตอร์เวย์ โดยวางแนวทิศเหนือ-ใต้ 3 เส้นทาง และแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก 4 เส้นทาง ระยะทางประมาณ 5,000 กิโลเมตร โดยใช้งบประมาณจากกองทุนมอเตอร์เวย์ ทั้งนี้ ในเบื้องต้นจะเลือกเส้นทางที่มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมก่อน โดยอาจจะเป็นเส้นทางไปยังพื้นที่ EEC

“เบื้องต้นจะพิจารณาให้เอกชนมาร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ในประเทศก่อน หรืออาจจะเป็นอินเตอร์เนชันแนล อีบิดดิ้ง ส่วนความสนใจ JETRO และ JCC โดยมีผู้ประกอบการมาเข้าร่วม เช่น มิตซูบิชิ โตโยต้า ฮอนด้า เป็นต้น หลายประเทศที่ส่งเสริมการลงทุน เช่น ให้พื้นที่ฟรี มาตรการทางภาษีจนกว่าจะมีกำไร หลายเรื่องต้องปรับ ข้อจำกัด การทำงานที่ล่าช้าเป็นอุปสรรคต้องแก้ไข ทลายทุกข้อจำกัด ต้องเปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นพี่น้องประชาชน ประเทศชาติได้ประโยชน์อย่างไร” นายศักดิ์สยาม กล่าว

ในส่วนการส่วนการปลดล็อคการเดินทางของนักลงทุนญี่ปุ่นมายังประเทศไทยนั้น ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นเจ้าภาพในการดำเนินการหากมีนักลงทุนประสงค์จะเดินทางมายังประเทศไทย แต่ต้องดำเนินการตามมาตรการทางสาธารณสุข กล่าวคือ สามารถเดินทางไปยังสถานที่ที่กำหนดเท่านั้น (Private Quarantine) พร้อมทั้งขอให้ JETRO และ JCC ช่วยประสานไปยังรัฐบาลญี่ปุ่นในการร่วมคัดกรองผู้เดินทางทั้งต้นทาง และปลายทาง

“เราต้องเข้มมาตรการคัดกรองและทางสาธารณสุข ทำให้เราไม่มีผู้ติดเชื้อมา 3 สัปดาห์แล้ว ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ เราจึงยังต้องคงมาตรการนี้ไว้ เพราะคนที่ไม่สบาย 1 คน อาจจะแพร่เชื้อได้เป็นจำนวนมาก ต้องรอจนกว่าวัคซีนจะมา แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะปิดประเทศ ถ้าเข้ามาก็ต้องมาตรวจอีกครั้ง ก่อนหยุด 14 วัน หรืออาจจะต้องสแกนไทยชนะ ถ้าทุกคนเชื่อ เราจะสามารถผ่านเรื่องนี้ไปได้ โดยอาจจะเสนอว่ามีบุคลากรทางการแพทย์ไปตรวจให้ด้วย” นายศักดิ์สยาม กล่าว