‘สภานิติบัญญัติจีน’ สตาร์ทพิจารณา ‘ร่างประมวลกฎหมายแพ่ง’

“สมาชิกสภานิติบัญญัติจีน” เริ่มพิจารณา “ร่างกฎหมายแพ่ง” ในการประชุมประจำปีของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งเริ่มต้นขึ้น เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา

หวังเฉิน รองประธานคณะกรรมการถาวรสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน เป็นผู้อธิบายร่างประมวลกฎหมายแพ่งต่อที่ประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) ชุดที่ 13 ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-28 พ.ค. 2563 ทั้งนี้ นอกจากบทบัญญัติทั่วไปและบทบัญญัติเพิ่มเติมแล้ว ร่างกฎหมายที่ประกอบด้วย 1,260 มาตราดังกล่าว จะประกอบด้วย 6 ส่วน ได้แก่ ทรัพย์สิน สัญญา สิทธิในสถานะบุคคล การสมรสและครอบครัว มรดก และความรับผิดทางละเมิด

หวัง เปิดเผยว่า การรวบรวมกฎหมายแพ่งคือองค์ประกอบสำคัญของแผนงานดำเนินงานพัฒนาหลักนิติธรรมของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งมีสีจิ้นผิงเป็นแกนกลาง โดยการรวบรวมกฎหมายแพ่งมีความสำคัญอย่างลึกซึ้งต่อการพัฒนาระบบการกำกับดูแลบนพื้นฐานของหลักกฎหมาย ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีคุณภาพสูง และเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน

นอกจากนี้ ยังเป็นการกลั่นกรองระบบกฎหมายขั้นพื้นฐานของจีน ตลอดจนหลักปฏิบัติในกลุ่มกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทั้งนี้ เมื่อมีมติรับร่างแล้ว กฎหมายฉบับนี้จะเป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งยังเป็นหมุดหมายสำคัญของการจัดทำประมวลกฎหมายของจีนอีกด้วย

สำหรับประมวลกฎหมายแพ่งดังกล่าวนั้น คาดว่าจะผ่านการรับรองทางกฎหมายในรูปแบบของระบบกฎหมายแพ่งที่สมบูรณ์ เพื่อให้จีนบรรลุเป้าหมายแห่งศตวรรษ 2 ประการ (Two Centenary Goals) และมุ่งหน้าสู่ฝั่งฝันของการฟื้นฟูชาติจีน (Chinese Dream of national rejuvenation) ซึ่งมติในการรวบรวมกฎหมายแพ่งดังกล่าวถูกประกาศเมื่อเดือนตุลาคม 2014 ณ ที่ประชุมเต็มคณะของคณะกรรมการพรรคฯ และเริ่มขั้นตอนทางกฎหมายในเดือนมิถุนายน 2016

ขณะเดียวกัน บทบัญญัติทั่วไปของกฎหมายแพ่งผ่านมติรับร่างเมื่อปี 2017 ส่วนบทบัญญัติอีก 6 ส่วน ได้รับการตรวจสอบในการประชุมของคณะกรรมการถาวรฯ หลายครั้งต่างช่วงเวลากัน จนได้ร่างประมวลกฎหมายแพ่งฉบับสมบูรณ์เมื่อเดือนธันวาคม 2019 โดยคณะกรรมการถาวรฯ มีมติเมื่อเดือนธันวาคม 2019 ให้จัดการเสนอร่างประมวลกฎหมายแพ่งต่อที่ประชุมประจำปีของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน ในปี 2020 เพื่อนำร่างกฎหมายเข้าสู่กระบวนการพิจารณา