‘ศักดิ์สยาม’ ผุดไอเดียรวมงานก่อสร้าง ‘มอเตอร์เวย์-รถไฟทางคู่’ ลดความซ้ำซ้อนการลงทุน

“ศักดิ์สยาม” ผุดไอเดียรวมงานก่อสร้าง “มอเตอร์เวย์-รถไฟทางคู่” ลดความซ้ำซ้อนการลงทุน หวังใช้เงินจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน พร้อมโยน สนข. เร่งศึกษาบูรณาการระหว่าง “รฟท.-ทล.” เดินหน้านโยบายดังกล่าว

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงแนวคิดที่จะพัฒนาระบบทางรางและถนน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนทางการลงทุนและการจัดกรรมสิทธิ์ว่า กระทรวงคมนาคมมีแนวคิดที่จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทางหลวง (ทล.), การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บูรณาการการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟทางคู่ร่วมกันกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ที่จะมีขึ้นในอนาคต เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการลงทุน ทั้งการกำหนดเส้นทาง การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เนื่องจากมองว่า หากมีกำหนดโครงการที่จะพัฒนาศักยภาพการลงทุน ควรที่จะให้มีการคิดอย่างรอบคอบที่สุด เพื่อให้เกิดการประหยัดงบประมาณในการลงทุนในคราวเดียวกัน

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ รวมถึงแนวเส้นทางในการพัฒนาที่จะเกิดขึ้น โดยในเบื้องต้นเส้นทางที่มีความเป็นได้ในการก่อสร้าง ทั้งเส้นทางมอเตอร์เวย์ ควบคู่ไปกับเส้นทางรถไฟทางคู่ เช่น เส้นทางนครราชสีมา (โคราช)-ขอนแก่น, เส้นทางโคราช-อุบลราชธานี, เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร เป็นต้น ขณะเดียวกัน ให้ สนข. ไปสำรวจความเป็นไปได้ในโครงการอื่นๆที่มีความเหมาะสมที่จะดำเนินการในปีงบประมาณต่อๆ ไปด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินในโครงการของการรถไฟฯ โดยเฉพาะในเส้นทางรถไฟทางคู่สายใหม่ จะใช้งบประมาณในการจัดกรรมสิทธิ์สูงมาก เช่น โครงการรถไฟเส้นใหม่ เด่นชัยเชียงราย-เชียงของ จะใช้วงเงินงบประมาณในการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน 20,000 ล้านบาท ส่วนแนวคิดที่จะมีการรวมแนวเส้นทางระหว่างรถไฟทางคู่กับมอเตอร์เวย์นั้น รฟท. เห็นว่าโดยเฉพาะในส่วนของฝ่ายวิศวกรรมสามารถดำเนินการได้ในเรื่องของงานก่อสร้าง หากเส้นทางรถไฟสายนั้น มีการเดินรถในลักษณะทางตรงเป็นหลัก แต่อาจจะมีปัญหากรณีมีการก่อสร้างทางเลี้ยว ทางโค้ง เนื่องจากถนนกับทางรถไฟนั้นจะใช้ระยะโค้งต่างกัน โดยของ รฟท. จะใช้ระยะโค้ง กว่า 1 กิโลเมตร เพื่อความปลอดภัยในการเดินรถ

อย่างไรก็ตาม ในการก่อสร้างหากพื้นที่ก่อสร้างทางกายภาพมีการผ่านภูเขา การก่อสร้างโครงการร่วมกัน ก็จะสามารถใช้เทคโนโลยีในการเจาะอุโมงค์ เพื่อให้โครงการมีการก่อสร้างร่วมกันได้ในเส้นทางเดียวกัน รวมทั้งปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีในประเทศไทยในการเจาะอุโมงค์ก็มีความก้าวหน้าไปมากไม่น้อยหน้าเทคโนโลยีจากต่างชาติ