‘วิทยุการบินฯ’ อ่วมหนัก! ‘โควิด-19’ พ่นพิษ ฉุดรายได้เหลือวันละ 0 บาท เร่งลดค่าใช้จ่าย-หั่นรายได้ผู้บริหารระดับสูง 30-50%

“วิทยุการบินฯ” อ่วม! โดน “โควิด-19” เล่นงานหนัก ฉุดรายได้หายเกลี้ยงเหลือวันละ 0 บาท จากเดิมฟันรายได้ 35 ล้าน/วัน ส่อทำปี 63 ขาดทุน 4.2 พันล้าน ลุยออกมาตรการแก้วิกฤติ “ลดค่าใช้จ่าย-ตัดเงินเดือนผู้บริหาร 30-50%”

นายสมนึก รงค์ทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เปิดเผยถึงสถานภาพทางการเงินของบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่วิกฤติอยู่ในขณะนี้นั้น ส่งผลให้ในปัจจุบัน บริษัทมีรายได้จากการดำเนินการเป็น 0 บาทต่อวันและต่อเดือน จากเดิมก่อนช่วงเกิดสถานการณ์ดังกล่าวนั้น สามารถเก็บเงินจากเที่ยวบินที่เป็นรายได้จำนวนประมาณ 2,500 เที่ยวบินต่อวัน มีรายได้ถึงวันละประมาณ 35 ล้านบาท และในช่วงเริ่มเกิดวิกฤติการณ์ มีรายได้ประมาณ 2-3 ล้านบาทต่อวัน

สำหรับสาเหตุที่ในปัจจุบันบริษัทมีรายได้ 0 บาทนั้น ด้วยในสถานการณ์ปัจจุบันที่เข้าสู่ภาวะวิกฤตินี้ บริษัทมีเที่ยวบินที่เป็นรายได้จำนวน 263 เที่ยวบิน (ข้อมูลเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564) ซึ่งควรจะได้รับเงิน 3.1 ล้านบาทต่อวัน แต่บริษัทไม่ได้รับเงินดังกล่าว เนื่องจากทุกสายการบินต่างประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจอย่างหนัก โดยคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) จึงมีมติให้บริษัทลดค่าบริการให้กับสายการบินที่บินเส้นทางภายในประเทศ (Domestic) ลง 50% และสายการบินที่บินเส้นทางระหว่างประเทศ (International) ลง 20% อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบริษัทได้ดำเนินการลดค่าบริการดังกล่าวแล้ว สายการบินยังมีการขอพักชำระหนี้ และขอไม่เสียค่าปรับจากการชำระล่าช้าจากบริษัทด้วย

ในส่วนรายจ่ายของบริษัทในปัจจุบันนั้น บริษัทมีค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละ 750 ล้านบาท (วันละ 25 ล้านบาท) หากเดือนเมษายน 2563 ค่าล่วงเวลา (OT) ลดลงเป็น 0 โดยคาดว่าในเดือนมิถุนายน 2563 ค่าใช้จ่ายจะลดลงเหลือประมาณ 620 ล้านบาท เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่เป็น OT จำนวนเงินประมาณ 130-160 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งจะทำให้ในปีงบประมาณ 2563 (1 ตุลาคม 2562-30 กันยายน 2563) บริษัทจะขาดทุนประมาณ 4,200 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทมีระบบการเก็บเงินสำรอง จึงทำให้บริษัทสามารถยืนระยะอยู่ได้จนถึงเดือนกันยายน 2563 นี้

นายสมนึก กล่าวต่ออีกว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้น บริษัทจึงมีมาตรการลดค่าใช้จ่ายเพื่อบรรเทาวิกฤติการณ์ ด้วยการลดค่าใช้จ่าย โดยตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็นออกทั้งหมด เช่น การประชุม งานซ่อม งานสร้าง Over Time ที่เกินจำเป็น ชะลอการรับพนักงานใหม่ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายลดลงจากงบประมาณเดิมเป็นจำนวนเงิน 1,480 ล้านบาท นอกจากนี้ จะตัดรายได้บางส่วนของผู้บริหาร 6 เดือน (1 เมษายน-30 กันยายน 2563) ทั้งในส่วนของค่ารถและเงินประจำตำแหน่ง โดยระดับ ผวท. ลดลง 50% และระดับผู้อำนวยการใหญ่ขึ้นไปลดลง 30% ทั้งนี้ จะช่วยประหยัดงบประมาณได้ประมาณ 13 ล้านบาท