ติดเพิ่มอีกราย! ช่างฝีมือ ‘การรถไฟฯ’ ในโรงงานมักกะสัน ติดเชื้อโควิด-19 ด้าน ‘ฝ่ายบริหาร’ นัดถกภายในด่วนพรุ่งนี้!

ด่วน! ช่างฝีมือ ‘การรถไฟฯ’ ทำงานในโรงงานมักกะสันติดเชื้อ “โควิด-19” ร้อนถึง “ฝ่ายบริหาร” นัดประชุมภายในพรุ่งนี้ พร้อมยื่นข้อเสนอปิดโรงงานฯ 14 วัน หวั่นระบาดคนในโรงงานนับพัน ด้าน ”ศักดิ์สยาม” สั่งเร่งตรวจสอบ พร้อมประสาน สธ.-กรมควบคุมโรค เข้าคุมพื้นที่ ก่อนบานปลาย

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ระบุว่า วันนี้ (7 เม.ย. 2563) มีการรายงานภายในฝ่ายบริหาร การรถไฟฯ โดยบันทึกข้อความจากฝ่ายซ่อมส่วนล่างรถดีเซลราง และรถไฟปรับอากาศ โดยเอกสารเรียนถึงผู้บริหาร แจ้งว่า มีพนักงาน 1 ราย ตำแหน่งช่างซ่อมฝีมือระดับ 6 สังกัดฝ่ายซ่อมส่วนล่าง รถดีเซลรางฯ มีผลการตรวจของแพทย์ยืนยันว่า เป็นผู้ติดเชื้อไวรัส โควิด-19 จริง และได้สร้างความวิตกให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในโรงงานมักกะสัน

ทั้งนี้ ในส่วนงานของพนักงานรายดังกล่าว ที่ปฏิบัติงานในโรงงานมักกะสันนั้น มีเพื่อนพนักงานทำงานร่วมกันอยู่ในส่วนงานนี้ ประมาณ 20-30 คน ในขณะที่ในพื้นที่โรงงานมักกะสัน รวมทั้งพื้นที่บ้านพัก มีผู้ทำงานและผู้อยู่อาศัยรวมประมาณ 1,000 คน โดยปัจจัยที่โรงงานมักกะสันเป็นพื้นที่แออัดนี้ ทำให้พนักงานหลายคนกังวลว่าจะเกิดปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่

รายงานข่าว ยังระบุอีกว่า ในวันพรุ่งนี้ (8 เม.ย. 2563) จะมีการประชุมภายในที่โรงงานมักกะสัน โดยมีรองวิศวกรใหญ่ ฝ่ายงานช่างกล ร่วมหารือกับพนักงาน เพื่อแก้ปัญหาจากสถานการณ์ดังกล่าว ขณะเดียวกัน ยังมีข้อเสนอจากพนักงานในพื้นที่ว่า จะขอให้ฝ่ายบริหารตัดสินใจปิดโรงงานมักกะสัน 14 วัน เพื่อทำการฆ่าเชื้อในโรงงาน กักตัวพนักงานที่ทำงานใกล้ชิดกับพนักงานรายดังกล่าวด้วย

จากประเด็นดังกล่าว นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ตนได้สั่งการให้ รฟท. และผู้ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบในรายละเอียดอย่างเข้มงวด รวมทั้งให้มีการประสานขอความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ดำเนินการตามขั้นตอนของการปฎิบัติ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการควบคุมโรคของ สธ.ต่อไป

ด้านนายศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ รองผู้ว่าการ รฟท. กลุ่มธุรกิจการซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน กล่าวว่า ได้รับรายงานเบื้องต้น กรณีพบพนักงานติดเชื้อโควิด19เพิ่มเติม 1 รายแล้ว ซึ่งคาดว่าเป็นการติดเชื้อจากบุคคลภายนอก ไม่ได้ติดจากโรงงานมักกะสัน โดยในวันพรุ่งนี้ (8 เม.ย. 2563) จะมีมาตรการตรวจสอบช่วงเวลาการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ป่วย และให้พนักงานที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยเข้ารับการตรวจสอบหาเชื้อ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงาน เนื่องจากช่วงนี้ไม่ค่อยมีขบวนรถไฟให้บริการอยู่แล้ว ส่วนประเด็นปัญหาดังกล่าว จะส่งผลให้ต้องมีการปิดโรงงานมักกะสันหรือไม่นั้น นายศิริพงศ์ กล่าวว่า ยังไม่รุนแรงถึงขั้นต้องปิดโรงงาน