‘สนามบินดอนเมือง’ พบ ‘ชายชาวอินเดีย’ บิน ‘แอร์เอเชีย เอ็กซ์’ มาจากโตเกียว เข้าข่ายเฝ้าระวัง ‘โควิด-19’

“ศักดิ์สยาม” เผยผล ทอท. รายงานประจำวัน ระบุ 28 ก.พ. 63 “สนามบินดอนเมือง” พบชายชาวอินเดียบินมาจากโตเกียว เข้าข่ายเฝ้าระวัง “โควิด-19” ด้าน “สนามบินภูเก็ต” พบชาวเยอรมันป่วยมีไข้ ฟาก “สุวรรณภูมิ” ส่งต่อ “หญิงชาวญี่ปุ่น” เฝ้าระวัง รพ.บางพลี ขณะเดียวกัน ทอท.ออกมาตการป้องกันฯพนักงาน-ลูกจ้าง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงผลการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัย และการดําเนินงานเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันจากเชื้อ Coronavirus Disease Starting in 2019 (โควิด-19) ว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้รายงานผลการคัดกรองผู้โดยสารทั้ง 6 ท่าอากาศยาน 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2563 ที่ผ่านมา ทอท.ได้ทําการคัดกรองผู้โดยสารระหว่างประเทศทั้งขาเข้าและขาออก และผู้โดยสารภายในประเทศขาออกจำนวนผู้โดยสารทั้งสิ้น 105,677 คน พบผู้โดยสารและลูกเรือที่มีอาการเข้าได้ข่ายเฝ้าระวัง จำนวน 3 ราย ดังนี้

  1. ผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง พบผู้ป่วยชายชาวอินเดีย อายุ 39 ปี ผู้โดยสารขาเข้า เดินทางมาจากโตเกียว ท่าอากาศยานนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น ด้วยสายการบินแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เที่ยวบิน XJ601 วัดอุณหภูมิได้ 37.7 องศาเซลเซียส แต่ไม่มีอาการไอหรือมีน้ำมูก แพทย์ประจำด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ ลงความเห็นเข้าข่ายสงสัยโรคโควิด-19 จึงนำส่งต่อสถาบันบาราศนราดูร
  2. ผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต พบผู้ป่วยชายชาวเยอรมัน เป็นผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ เดินทางมาจาก ประเทศสิงคโปร์ ด้วยสายการบิน SILKAIR เที่ยวบิน MI750 มีอาการไอ น้ำมูก วัดอุณหภูมิได้ 38.6 องศาเซลเซียส แพทย์ประจำด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ ลงความเห็นเข้าข่ายสงสัยโรคโควิด-19 จึงนำส่งต่อโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต
  3. ผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พบผู้ป่วยหญิงชาวญี่ปุ่น อายุ 21 ปี ผู้โดยสารขาออก เมื่อเดินทางมาถึง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วัดอุณหภูมิได้ 37.1 องศาเซลเซียส แต่มีอาการไอ หรือมีน้ำมูก แพทย์ประจำด่านควบคุมโรคระหว่างประเทศ ลงความเห็นเข้าข่ายสงสัยโรคโควิด-19 จึงนำส่งต่อโรงพยาบาลบางพลี

ทั้งนี้ ทอท. ได้ออกประกาศบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เรื่อง มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกาศ ณ วันที่ 27 ก.พ. 2563 โดยมีใจความว่า ตามที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่องของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลกองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) จึงได้ประกาศให้การระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็น “ภาวะฉุกเฉิน ด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” (Public Health Emergency of International Concern หรือ PHEIC) 

ดังนั้น ทอท. จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคดังกล่าว สำหรับพนักงานและลูกจ้าง ทอท. ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อมิให้กระทบต่อสุขภาพของพนักงานและลูกจ้าง ทอท. ตลอดจนเพื่อมิให้มีผลกระทบต่อการดำเนินงาน ของ ทอท. 

นอกจากนี้ ได้จัดทำโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์แนวทางปฏิบัติสำหรับพนักงานและลูกจ้าง ทอท.ที่เดินทางกลับหรือแวะผ่านประเทศกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และวิธีการรับมือเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับพนักงานและลูกจ้าง ทอท. ที่เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยงให้พนักงานแจ้งผู้บังคับบัญชาทราบ และตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายที่บ้านหรือคลินิกแพทย์ ที่ปฏิบัติงาน ก่อนเข้าพื้นที่ทางานทุกวันต่อเนื่องกันเป็นเวลา 14 วัน นับตั้งแต่วันที่เดินทางกลับถึงประเทศไทย และรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ