‘ศักดิ์สยาม’ ไล่บี้ รฟท. ดันโปรเจ็กต์-เร่งเบิกจ่ายรถไฟทางคู่ สั่งปรับข้อมูลเฟส 2 ส่ง สศช. ภายใน ก.พ.นี้
“ศักดิ์สยาม” เร่งรัดโปรเจ็กต์รถไฟทางคู่ สนองข้อสั่งการ “บิ๊กตู่” พร้อมจี้ รฟท.สปีดเบิกจ่ายงบฯ ตามแผน ฟากโครงการระยะที่ 2 ลุยปรับข้อมูลเสนอ สศช. ภายใน ก.พ.นี้ สั่ง ขร.ศึกษาโครงข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคม เร่งเดินหน้าพัฒนาโครงข่ายระบบรางโดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ ตามข้อสั่งการสำคัญของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเสริมศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ สร้างคุณภาพชีวิตด้านการขนส่งเดินทางที่ดีให้ประชาชน โดยให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ งานก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 จำนวน 7 โครงการ ให้เป็นไปตามแผนงาน
ทั้งนี้ แผนการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ประกอบด้วย โครงการรถไฟทางคู่เส้นทาง ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น มีกำหนดเปิดให้บริการภายในปี 2563 เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2565 และเส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร, มาบกะเบา-ชุมทางจิระ, นครปฐม-หัวหิน, หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2566 อย่างไรก็ตาม หากเกิดปัญหาอุปสรรคที่ทำให้การดำเนินโครงการล่าช้าให้ รฟท. เร่งดำเนินการแก้ไขพร้อมรายงานให้กระทรวงคมนาคมทราบทันที
สำหรับโครงการรถไฟทางคู่เส้นทางใหม่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแล้วให้ รฟท. เร่งดำเนินการประกวดราคางานก่อสร้าง ส่วนเส้นทางบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม เร่งผลักดันรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้ผ่านความเห็นชอบของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยเร็ว

นอกจากนี้ ให้เสนอการปรับปรุงข้อมูลโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 7 โครงการ ตามความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้แก่ ปากน้ำโพ-เด่นชัย, เด่นชัย-เชียงใหม่, ขอนแก่น-หนองคาย, ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี, ชุมพร-สุราษฎร์ธานี, สุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา และชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ และส่งให้ สศช. ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และรายงานให้กระทรวงคมนาคมทราบด้วย
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) เร่งศึกษาการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศและการใช้ประโยชน์ระบบรถไฟให้เต็มประสิทธิภาพเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนพัฒนาระบบรางให้เป็นโครงข่ายหลักในการเดินทางและขนส่งสินค้าของประเทศในอนาคตอันใกล้