ผุด! อุโมงค์ทางด่วนลอดเจ้าพระยา-บางนา 8.7 กม. แก้จราจรสาหัสย่านสาทร แย้มลงทุน TFF สั่ง สนข.ปิดช่องข้อพิพาท สรุปผล มี.ค.นี้

“คมนาคม” ถกร่วม MLIT ศึกษาสร้างอุโมงค์ทางด่วนลอดเจ้าพระยา-บางนา ระยะทาง 8.7 กม. เชื่อมทางด่วนบริเวณ ถ.นราธิวาสฯ รถวิ่งฉิวไปฝั่งตะวันออกไม่ผ่าน กทม. แก้จราจรย่านสาทร  ด้าน “ศักดิ์สยาม” แย้มรูปแบบการลงทุนใช้ TFF สั่ง สนข. พิจารณาระเบียบเชื่อมโครงการกับเอกชน หวั่นเกิดข้อพิพาทในอนาคต คาดสรุปผลการศึกษา มี.ค.นี้ ก่อนเสนอ คจร. ไฟเขียว

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในวันนี้ (6 ก.พ. 2563) กระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) ได้มารายงานความก้าวหน้าผลการศึกษาโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางด่วนลอดใต้เจ้าพระยาไปบางนา ผ่านพื้นที่บางกระเจ้า จ.สมุทรปราการ ระยะทาง 8.7 กิโลเมตร โดยจะเชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานครกับถนนนราธิวาส และเชื่อมต่อทางพิเศษเฉลิมมหานครกับสี่แยกบางนา 

ทั้งนี้ อุโมงค์ทางด่วนดังกล่าว จะทำให้รถที่จะวิ่งไปยังฝั่งตะวันออก ไม่ผ่านพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเป็นการบรรเทาแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณสาทร สีลม บางรัก พระราม 4 และบริเวณใกล้เคียง ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้นรูปแบบโครงสร้างเป็นอุโมงค์ใต้ดิน ไป-กลับ จำนวน 4 ช่องจราจร

ในส่วนรูปแบบการลงทุนนั้น เบื้องต้นอาจจะใช้เงินลงทุนจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) โดยจากข้อมูล พบว่า ปริมาณการจราจรจะมีความคุ้มค่าผลตอบแทนจากการลงทุนรูปแบบการลงทุน ขณะที่การออกแบบล่าสุด มี 2 แนวทาง ได้แก่ 1.การแยกเป็น 2 อุโมงค์ คือ อุโมงค์ขาไป และอุโมงค์ขากลับ 2.เป็นอุโมงค์เดียว โดยมี 2 ชั้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะสรุปรายละเอียดต่างๆ รวมถึงวิธีการก่อสร้าง และประมาณการณ์ด้านราคา ได้ภายใน มี.ค. 2563

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ได้ฝากให้ MLIT พิจารณาผลการศึกษาว่า หากสามารถดำเนินการได้จริงนั้น จะกระทบกับการจราจรในช่วงเวลาที่มีการก่อสร้างหรือไม่อย่างไร รวมถึงได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปดูรายละเอียดอย่างรอบคอบ เนื่องจากอุโมงค์ดังกล่าวนั้น จะเชื่อมต่อกับโครงการที่ได้ให้สัมปทานกับภาคเอกชน เพื่อไม่ให้มีข้อพิพาทเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ด้านนายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) กล่าวว่า โครงการดังกล่าว เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณสาทร สีลม บางรัก พระราม 4 และบริเวณใกล้เคียง เนื่องจากปัญหาการจราจรในตัวกรุงเทพชั้นในหลักๆ ส่วนใหญ่มาจากทางด้านใต้ของกรุงเทพ และทางด้านฝั่งตะวันออกที่มาจากทางด้านพื้นที่ EEC ซึ่งทั้ง 2 จุดพื้นที่ส่งผลให้ปริมาณของจราจรหนาแน่นถึงบริเวณ 3 เหลี่ยมคลองเตย โดยก่อนหน้านี้ได้มีการทำการศึกษา เพื่อก่อสร้างสะพานข้ามแก้ไขปัญหาการจราจรดังกล่าวพบว่าหากดำเนินการตัดถนนเลี่ยงเมืองก็จะติดปัญหาบริเวณพื้นที่บางกะเจ้าเพราะเป็นพื้นที่สีเขียวห้ามมีการก่อสร้าง จึงมีแนวคิดที่จะทำการก่อสร้างทางลอดใต้ดินโดยเบื้องต้นจะเริ่มจากบริเวณแยกนราธิวาส-บางนา-ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ไปทางพัทยา ส่วนการเวนคืนนั้นคาดว่าจะเวนคืนพื้นที่ไม่มาก

ทั้งนี้ หลังจากนี้หากทาง MLIT ทำการศึกษาความเหมาะสมโครงการฯ แล้วเสร็จ จากนั้นจะมีการเสนอรายงานให้ สนข. เพื่อทราบ และนำเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณา รวมถึงเสนอให้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) โดยมีพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานรับทราบและพิจารณาต่อไป โดยในส่วนของอุโมงค์ทางลอดเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรที่ทาง สนข.จะนำเสนอนั้นเบื้องต้นจะมีประมาณ 9 แห่ง ซึ่งอยู่ในส่วนของแผนแม่บทการแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพและปริมณฑลที่จะเป็นแผนภาพใหญ่ในการแก้ไขปัญหาจราจรในอนาคต