สั่ง กทท. เชื่อมขนส่ง 2 มหาสมุทร อัพเกรด ‘ท่าเรือคลองเตย’ สู่ World Class

‘สมคิด’สั่งพัฒนาการขนส่งสินค้าทางน้ำ เชื่อม 2 มหาสมุทร EEC-BIMSTEC หวังชิงโอกาสสิงคโปร์-มาเลเซีย ขณะเดียวกัน เร่ง กทท.เนรมิตท่าเรือคลองเตย รับรายได้แสนล้าน ด้าน กทท.เตรียมชง ครม.ขอกู้ 4.7 หมื่นล้านบาทก่อนเปิดประมูลแหลมฉบังต้นปีหน้า เล็งจับมือ 3 ชาติเปิดเดินเรือทะเลอินเดีย ยันตั้งบริษัทลูกเดินหน้าแผนคลองเตยภายในปีนี้

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์การขนส่งสินค้าทางน้ำที่ดีในภูมิภาค สามารถเชื่อมต่อการขนส่งสองฝั่งมหาสมุทรดังนั้นจึงต้อง การให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย หรือ กทท.ต้องพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังให้เป็นท่าเรือระดับโลก หรือเป็นชิปเมนท์ของภูมิภาค เพื่อรองรับสินค้าจากมหาสมุทรแปซิฟิกควบคู่ไปกับท่าเรืออื่นๆ ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC

นอกจากนี้ ยังต้องวางระบบโลจิสติกส์เชื่อมโยงสินค้ากับมหาสมุทรอินเดียทางฝั่งทะเลอันดามัน ดังนั้น จึงต้องไปพัฒนาท่าเรือฝั่งทะเลอันดามันโดยเฉพาะจังหวัดระนอง เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสินค้ากับกลุ่มประเทศ BIMSTEC ที่ประกอบด้วย บังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา เป็นต้น เนื่องจากเป็นสิ่งที่ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์กลัวในเรื่องของการแบ่งสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางน้ำ จึงฝากให้ประธานคณะกรรมการ หรือ บอร์ด กทท.ไปดูเรื่องนี้ด้วย

“กทท. มีศักยภาพมากในด้านของทรัพย์สินถือครองในมือ นอกจากจะพัฒนาเรื่องการขนส่งสินค้าแล้ว ยังต้องนำทรัพย์สินที่มีออกมาสร้างรายได้ ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายรับได้หลายแสนล้านบาท ดังนั้นจึงฝากนายสมศักดิ์ ห่มม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า หรือ จท.เข้าไปช่วยดูแลแผนพัฒนาร่วมกับ กทท. ซึ่งที่ผ่านมามีแผนแม่บทแล้วขอให้เดินตามนั้น โดยเฉพาะเรื่องการขอเวนคืนพื้นที่ผู้อยู่อาศัยเดิมต้องไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน ต้องเตรียมที่อยู่อาศัยใหม่ให้พร้อม ส่วนเรื่องแผนการก่อสร้างและพัฒนาท่าเรือนั้นสามารถศึกษาความรู้จากประเทศจีนได้ต้องทำความร่วมมือกันเพราะจีนมีประสบการณ์มากในด้านนี้ อย่างไรก็ตาม กทท.ต้องตั้งเป้าให้ได้ว่ามีแผนอะไรบ้างที่ต้องเร่งทำและในแต่ละปีต้องทำอะไรให้สำเร็จบ้าง” นายสมคิด กล่าว
ด้านนายมนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง การท่าเรือแห่งประเทศไทย หรือ กทท. กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 วงเงิน 1.4 แสนล้านบาทว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. เพื่อขอความเห็นชอบในการกู้เงิน 4.7 หมื่นล้านบาท ก่อนเปิดขายซองเอกสารเงื่อนไขการประกวดราคา หรือ ทีโออาร์ในเดือน ธ.ค. 2561 จากนั้นจะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในเดือน ก.พ. และลงนามสัญญาในเดือน มี.ค. 2562

ในส่วนด้านแผนการพัฒนาการขนส่งสินค้าเชื่อมกลุ่ม BINSTEC นั้น ขณะนี้ผลการศึกษาเสร็จแล้วหลังจากนี้จะเดินหน้าลงนามบันทึกความร่วมมือ หรือ MOU กับ 3 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย บังกลาเทศ และศรีลังกา โดยจะเชื่อมการขนส่งสินค้าจากท่าเรือระนองไปยังท่าเรือในสามประเทศดังกล่าว อาทิ เมืองเชนไน อินเดีย เมืองจิตตะกอง บังกลาเทศ เมืองและเมืองโคลัมโบ ศรีลังกา คาดว่าจะใช้เวลา 1 ปีในการเปิดเดินเรือเส้นทางดังกล่าวโดยจะเป็นการแล่นเรือเรียบชายฝั่งก่อนที่จะสามารถแล่นตัดท้องทะเลได้ในปี 2563

นายมนตรี กล่าวต่ออีกว่า สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรือคลองเตย วงเงิน 1 แสนล้านบาทเป็นแลนด์มาร์คใหม่และท่าเรือระดับโลกของไทยนั้น จะเร่งก่อตั้งบริษัทลูกโดย กทท.จะถือหุ้น 100% ภายในปลายปีนี้ เพื่อทำหน้าที่บริหารทรัพย์สินที่ดิน เช่นเดียวกับบริษัทลูกด้านทรัพย์สินของ รฟท. หลังจากนั้นจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน เพื่อศึกษารายละเอียดทั้งหมด ก่อนทยอยพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในแต่ละแปลง
ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่แลนมาร์คคลองเตยของการท่าเรือนั้นแบ่งเป็นพื้นที่ แปลง A ประกอบไปด้วย อาคารศูนย์พัฒนาพาณิชย์นาวี ศูนย์โลจิสติกส์และกระจายสินค้า อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้าธุรกิจทันสมัยครบวงจร ที่อยู่อาศัยทดแทนชุมชนแออัดและสำนักงานเขตคลองเตย พื้นที่แปลง B เป็นสถานีบรรจุสินค้าเพื่อการส่งออกและสถานีขนส่งทางรถไฟกระจายสินค้าและพื้นที่แปลง C รูปแบบการพัฒนาเป็นอาคารศูนย์บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จและศูนย์ประชุมครบวงจร