‘นักวิชาการ’ รุมต้าน “ทางด่วนใต้ดิน” ขัดนโยบายให้ใช้ขนส่งสาธารณะ

นักวิชาการออกโรงค้าน “โครงการทางด่วนใต้ดิน” แห่ตั้งคำถามถึงความคุ้มค่า หลังอาจต้องลงทุนกิโลเมตรละหลายพันล้านบาท ผนวกกับติดปัญหาสิ่งแวดล้อม-ขัดนโยบายแก้รถติด-นโยบายใช้ระบบขนส่งสาธารณะ พร้อมแนะลงทุนรถไฟฟ้าคร่อมคลอง

จากกรณีที่กระทรวงคมนาคมมีนโยบายสร้างทางด่วนใต้ดินช่วงถนนนราธิวาส-สำโรง นั้น ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยว่า ได้เห็นแนวคิดของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข.แล้ว ซึ่งแนวคิดดังกล่าว ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ต้องตั้งคำถามว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เพราะเป็นการสร้างระยะทางเพียง 9 กิโลเมตร อาจไม่ช่วยแก้ปัญหาจราจรได้ในระยะยาว ขณะเดียวกันการก่อสร้างนี้ ต้องสามารถตอบคำถามได้ว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่ที่จะต้องเร่งก่อสร้างในขณะนี้ที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายเส้นทาง นอกจากนี้มองว่าสิ่งที่ สนข.ควรเร่งแก้ปัญหาขณะนี้ คือ การบริหารจัดการ และการควบคุมการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดในระยะยาว

ด้าน ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำหรับโครงการทางด่วนลอดใต้ดิน ระยะทาง 9 กม. วงเงินก่อสร้าง กม.ละ 2,000-10,000 บาทนั้น ตามหลักเทคนิคสามารถทำได้ แต่ต้องตั้งคำถามว่ามีความคุ้มค่าและเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งยังส่งเสริมการให้ประชาชนในเขตเมืองชั้นในใช้ยานพาหนะส่วนบุคคลขัดกับแนวทางแก้รถติดของรัฐบาล ที่ต้องการลดปริมาณจราจรและส่งเสริมให้คนไปใช้ระบบขนส่งสาธารณะของกรุงเทพฯ อย่างเช่น ระบบรถไฟฟ้าที่ได้ลงทุนไปนับแสนล้านบาท

“ด้วยเม็ดเงินลงทุนจำนวนมาก ควรนำมาใช้ลงทุนโครงการที่ส่งเสริมให้ลดการใช้จราจรมากกว่า อย่างโครงการโมโนเรลวิ่งเหนือคลองในกรุงเทพฯ จะใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อ กม. ซึ่งถูกกว่าค่าก่อสร้างทางด่วนใต้ดินและรถไฟฟ้าอื่นที่เราใช้บริการกันอยู่หรือที่กำลังก่อสร้างมาก เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-บางใหญ่มีต้นทุน 2,735 ล้านบาทต่อ กม. รถไฟฟ้าบีทีเอสมีต้นทุนประมาณ 2,200 ล้านบาทต่อ กม. รถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ทีมีต้นทุนประมาณ 5,600 ล้านบาทต่อ กม.” ดร.สามารถ กล่าว

ขณะที่แหล่งข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ กทพ. กล่าวว่า การก่อสร้างทางด่วนใต้ดินนั้น เป็นไปได้ยากมาก โดยเฉพาะเส้นทางดังกล่าวเป็นพื้นที่ราคาแพงและต้องเวนคืนพื้นที่เยอะ เพื่อทำระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน ซึ่งจะต้องใช้เม็ดเงินลงทุนเพิ่มเติมนอกเหนือจากงานก่อสร้างที่ตก กม.ละมากกว่า 2 พันล้านบาท อีกทั้งยังติดปัญหาด้านรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เนื่องจากต้องขุดอุโมงค์ขนาดใหญ่ใจกลางเมือง ซึ่งจะรองรับฝุ่นละอองและควันพิษจำนวนมากในแต่ละวัน อีกทั้งยังมีงานเทคนิคที่ยุ่งยากกว่าการลงทุนระบบรถไฟฟ้ามากกว่าอีกด้วย

ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวเป็นเพียงแค่แนวคิดในการแก้ปัญหาจราจร ซึ่งต้องมีการศึกษาว่าเป็นไปได้หรือไม่ เพราะกรุงเทพฯ มีปัญหาดินอ่อน หากขุดอุโมงค์จะต้องใช้เทคโนโลยีมากน้อยแค่ไหน รวมถึงค่าก่อสร้างที่ค่อนข้างสูงมาอีกด้วย ดังนั้นคงยังไม่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้แน่นอน

รายงานจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. ระบุว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมไปศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างอุโมงค์ถนนใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ได้สั่งการให้ สนข. ไปดำเนินการ โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาของกองจัดระบบการจราจรทางบก หรือ กจร.  ซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุปผลการศึกษาความเป็นได้การก่อสร้างดังกล่าว พร้อมนำเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาได้ภายในเดือน ต.ค.นี้