กทท.เนรมิตแลนด์มาร์คใหม่ ‘ท่าเรือคลองเตย’ งบลงทุน 5 แสนล้าน เปิดสัมปทาน 60 ปี-ดูดรายได้ 10 ล้านล้าน

กทท. เปิดแผนลงทุน 5 แสนล้านบาท ผุดแผนแม่บท-เนรมิตแลนด์มาร์คท่าเรือคลองเตย เล็งเปิดสัมปทานให้เอกชน 60 ปี หวังดูดรายได้ทะลุ 10 ล้านล้านบาท จ่อชง ครม.เคาะลงทุน 20 ปี-คลอดบริษัทลูกฯ ลุยปั้นสกายวอล์คพ่วงรถไฟฟ้ามูลค่าหมื่นล้าน

นายสมชาย เหมทอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) สายบริหารสินทรัพย์และพัฒนาธุรกิจ เปิดเผยว่า กทท.ได้จัดทำแผนแม่บทพัฒนาท่าเรือคลองเตยให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของกรุงเทพ รวมพื้นที่ทั้งหมด 2,300 ไร่ ส่งเสริมการสร้างรายได้ในรูปแบบใหม่ไปพร้อมกับส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว คาดว่าจะสรุปแผนแม่บทฉบับสุดท้าย (Final Report) ได้ภายในเดือน ต.ค. 2562 ก่อนเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบในหลักการควบคู่กับการก่อตั้งบริษัทลูกด้านบริหารสินทรัพย์ดังกล่าวเพื่อเริ่มต้นการลงทุน สำหรับพื้นที่การพัฒนาแบ่งเป็น 4 แปลง ประกอบด้วย แปลง A อาคารสำนักงานและที่พักอาศัยแบบ Smart Community แปลง B พื้นที่ Smart Port ท่าเรืออัจฉริยะและโลจิสติกส์ทางน้ำ แปลง C พื้นที่เชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ ร้่านค้าปลีก โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และพื้นที่ริมแม่น้ำ แปลง D เป็นคลังสินค้าและศูนย์กีฬาครบวงจร (Sport Complex)

ด้านนายวรวัสส์ วัสสานนท์ รองผู้จัดการโครงการศึกษาแผนแม่บทฯ กล่าวว่า พื้นที่ท่าเรือกรุงเทพเป็นหนึ่งในที่ดินศักยภาพมากที่สุดในประเทศ จึงมีแนวคิดพัฒนาในรูปแบบ ประตูสู่สยาม หรือ Siam Gate เป็นย่านการค้าระดับโลก ผสมผสานที่อยู่อาศัยไฮเอนด์และศูนย์กลางโลจิสติกส์ ตลอดจนเป็นศูนย์ประชุมนานาชาติด้านไมซ์ โดยมีระยะเวลาสัมปทานให้เอกชนในการเช่าที่ดินประมาณ 60 ปี คาดว่าจะสร้างรายได้รวมทั้งสิ้น 10 ล้านล้านบาท คิดเป็นกำไรที่จะเกิดขึ้นประมาณ 4.5 ล้านล้านบาท ในส่วนนี้กทท.จะได้ผลตอบแทนมากกว่า 1 ล้านล้านบาท ตลอดระยะเวลาสัมปทาน ขณะที่เงื่อนไขค่าเช่าที่จะปรับทุก 3 ปี ปรับเพิ่มขึ้นครั้งละ 10% โดยในส่วนของการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวนั้น มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 4.92 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ระยะ 1-5 ปีแรก 9.7 หมื่นล้านบาท และระยะ 5-20 ปี อีก 3.95 แสนล้านบาท

สำหรับโครงการขนาดใหญ่ที่จะมีการลงทุนในช่วง 5 ปีแรก ประกอบด้วย 1.พื้นที่เชิงพาณิชย์แบบ Mixed use และ การพัฒนา creative town วงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท 2.พัฒนา smart community วงเงิน 1.8 หมื่นล้านบาท 3.อาคารสำนักงานการท่าเรือ 1.4 หมื่นล้านบาท 4.ทางเดินลอยฟ้า Sky Walk วงเงิน 5 พันล้านบาท 5.ร้านค้าปลีก วงเงิน 4 พันล้านบาท 6.รถไฟฟ้ารางเบา วงเงิน 3 พันล้านบาท 7.Medical Hub วงเงิน 1.5 พันล้านบาท

ขณะที่โครงการลงทุนสำคัญในระยะ 5-20 ปี ประกอบด้วย 1.พื้นที่เชิงพาณิชย์แบบ Mixed use และ การพัฒนา creative town เฟส 2 วงเงิน 1.21 แสนล้านบาท 2.พื้นที่โรงแรมและศูนย์ประชุมนานาชาติ วงเงิน 8.3 หมื่นล้านบาท 3.พื้นที่เชิงพาณิชย์เพื่อการอยู่อาศัย (Residential Area) วงเงิน 7.3 หมื่นล้านบาท 4.พื้นที่เขตธุรกิจและย่านการค้า (Business District) วงเงิน 7.3 หมื่นล้านบาท 5.พื้นที่สปอร์ตคอมเพล็กซ์ วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท 6.ร้านค้าปลอดภาษี Duty Free

ขณะที่ ดร.กีรติ กิจมานะวัฒน์ ที่ปรึกษาโครงการแผนแม่บทฯ กล่าวว่า ในด้านจัดการระบบจราจรภายในพื้นที่นั้น จะมีการลงทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย การก่อสร้างทางเดินลอยฟ้า (Sky Walk) และทางจักรยานในช่วง 5 ปีแรก วงเงินลงทุน 5 พันล้านบาท เน้นให้เป็นพื้นที่ปลอดยานพาหนะส่วนบุคคลเพื่อแก้ปัญหาจราจร นอกจากนี้ จะมีการลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบา วงเงินมากกว่า 3 พันล้านบาท เป็นระบบขนส่งเชื่อมต่อพื้นที่ภายในกับระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่มีทั้งสิ้น 12 สถานี โดยมีสถานีต้นทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินที่สถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต และสถานีปลายทางที่รถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีพระโขนง นอกจากนี้จะมีการขยายถนนโดยรอบท่าเรือกรุงเทพ ตลอดจนก่อสร้างทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางด่วนบางนา-อาจณรงค์ (S1) ระยะทาง 2 กม. ลงทุน 1.5 พันล้านบาท