ครม. ไฟเขียว ‘อธิบดีขนส่งฯ’ นั่งประธานบอร์ด รฟท. เร่งสางงานไฮสปีดไทย-จีน พ่วงเชื่อม 3 สนามบิน-โฮปเวลล์

ครม. ไฟเขียว “จิรุตม์” อธิบดี ขบ. นั่งประธานบอร์ด รฟท. ลุยสางงานไฮสปีดไทย-จีน สัญญา 2.3 พ่วงพิจารณาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ก่อนเดดไลน์ลงนาม 25 ต.ค.นี้ พร้อมมอบอำนาจฝ่าย กม.ฟ้องแพ่งโฮปเวลล์

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 8 ราย ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ประกอบด้วย 1.นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธานกรรมการ 2.นายชยธรรม์พรหมศร รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นกรรมการผู้แทนกระทรวงคมนาคม 3.นางศุกร์ศิริ บุญญเศรษฐ์ รองอธิบดีด้านที่ราชพัสดุกรมธนารักษ์ เป็นกรรมการผู้แทนกระทรวงการคลัง 4.นายอำนวย ปรีมนวงศ์ อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ เป็นกรรมการ 5.นางสาวไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงินบริษัท เอกชัย ดิสทริบิวชั่นชิสเทม จำกัด เป็นกรรมการ

6.นายธันวา เลาหศิริวงศ์ กรรมการอิสระ/ประธานกรรมการตรวจสอบ/กรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน บริษัททีพีบีไอจำกัด (มหาชน) หรือ TPB เป็นกรรมการ 7.นายพินิจ พัวพันธ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท หลักทรัพย์เคทีชีมิโก้ จำกัด (ktzmico) เป็นกรรมการ และ 8.นายวรวุฒิ มาลา รักษาการแทนผู้ว่าการ รฟท. เป็นกรรมการ ขณะที่การแต่งตั้งบอร์ดรัฐวิสาหกิจของกระทรวงคมนาคมอีก 3 หน่วยงานที่เหลือ ประกอบด้วย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.), องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) นั้น ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคุณสมบัติของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

ทั้งนี้ บอร์ด รฟท.ชุดใหม่ จะมีการประชุมนัดแรกในวันพรุ่งนี้ (15 ต.ค. 2562) เวลาประมาณ 13.00 น. เพื่อพิจารณาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงินลงทุน 1.79 แสนล้านบาท ในส่วนของสัญญา 2.3 (งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและฝึกอบรมบุคลากร) วงเงิน 50,600 ล้านบาท จากนั้นจะเสนอเข้า ครม. ในวันที่ 22 ต.ค. 2562 และให้ลงนามได้ภายในเดือน พ.ย. นี้ ก่อนที่จะมีการจัดงานประชุมอาเซียนซัมมิทที่ประเทศไทย ซึ่งจะมีผู้นำรัฐบาลจีนเข้าร่วมด้วย

นอกจากนี้ บอร์ด รฟท.ชุดใหม่ จะมีการพิจารณาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) วงเงิน 2.2 แสนล้านบาทให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญาระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ในวันที่ 25 ต.ค.นี้ ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ (16 ต.ค. 2562) เวลา 10.00 น.คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (บอร์ด EEC) จะมีการพิจารณาในโครงการดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะต้องดำเนินการตามกรอบข้อเสนอการร่วมลงทุน (Request For Proposal :RFP) รวมถึงหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และกฎหมายไทยอื่นที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกัน บอร์ด รฟท.ชุดใหม่นั้น จะมีการมอบอำนาจให้ฝ่ายกฎหมายของ รฟท. ดำเนินคดีทางแพ่งกับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด