‘ศักดิ์สยาม’ สั่ง ทช. ฟื้นฟู-ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม เร่งลุยนโยบายยางพารา-แก้ปัญหาจราจรกัลปพฤกษ์

“ศักดิ์สยาม” เร่ง ทช. ฟื้นฟู-ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมเหนือ-อีสาน หลัง ครม. จัดสรรงบกลางให้ 908 ล้าน พร้อมสั่งเตรียมรับมืออุทกภัยใต้ ฟากนโยบายยางพารา จี้ออกแบบแล้วเสร็จ ต.ค.นี้ พ่วงแก้จราจรติดขัดกัลปพฤกษ์

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในงานวันคล้ายวันก่อตั้งครบรอบ 17 ปีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ว่า ได้กำชับให้นายปฐม เฉลยวาเรศ รักษาราชการอธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) รวมถึงผู้บริหาร ทช.  เร่งดำเนินการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน  พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัย ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา  ทั้งในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หลังจากเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2562 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 งบกลางรายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ครั้งที่ 1 วงเงิน 2,282.98 ล้านบาท โดยในจำนวนดังกล่าวนั้น ทช. ได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณ วงเงิน 908.38 ล้านบาท โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของกรมบัญชีกลาง นอกจากนี้ ยังสั่งการให้ ทช. เตรียมการรับมือสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ เช่น อุปกรณ์ และเครื่องมือต่างๆ พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวก เพื่อคอยช่วยเหลือประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบได้

ในส่วนของนโยบายที่ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ศึกษาแนวทางในการนำยางพาราไปใช้ในโครงการก่อสร้างต่างๆ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรนั้น ได้เร่งรัดให้ ทช. ไปดำเนินการออกแบบแบริเออร์คอนกรีต (Rubber Buffer Barrier) ให้แล้วเสร็จภายใน ต.ค.นี้ ขณะเดียวกัน ยังสั่งการให้ ทช. เร่งดำเนินการโครงการขยายถนนกัลปพฤกษ์ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในบริเวณนั้น นอกจากนี้ ให้พิจารณาทำช่องทางพิเศษ (Special Lane) โดยประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อหามาตรการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

นายปฐม เฉลยวาเรศ รักษาราชการอธิบดี ทช.

ด้านนายปฐม กล่าวว่า โครงการก่อสร้างขยายถนนกัลปพฤกษ์ ปัจจุบันมีความคืบหน้า 70% ล่าช้ากว่าแผนงานประมาณ 2% โดยจะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 15 ธ.ค. 2562 แต่เชื่อว่าจะแล้วเสร็จและดำเนินการได้ตามแผน ทั้งนี้ ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างนั้น ทช. เตรียมประสานงานร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) เพื่อหามาตรการในการแก้ไขปัญหาจราจร เช่น การทดลองตีเส้นจราจรบนสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน (สะพานสาทร) จากเดิม 3 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร พร้อมทั้งขอความร่วมมือในการบริหารสัญญาณไฟจราจรด้วย

นายปฐม กล่าวต่ออีกว่า สำหรับในปีงบประมาณ 2563 นั้น ทช.ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ 4.80 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินการตามภารกิจและนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ ถนนลูกรังเป็นถนนลาดยางหรือคอนกรีต ถนนเพื่อการแก้ไขปัญหาจราจรในปริมณฑลและภูมิภาค, ถนนในเขตผังเมืองรวม, ถนนสนับสนุนการท่องเที่ยว, ถนนเพื่อพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้, ถนนเพื่อเชื่อมต่อระบบขนส่ง, ถนนเพื่อสนับสนุนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EEC และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน โดยมีการก่อสร้างจากถนนลูกรังเป็นถนนลาดยางหรือคอนกรีต จำนวน 439 โครงการ ระยะทาง 843.905 กิโลเมตร สะพานคอนกรีตเสริมเหล็กทั่วประเทศ จำนวน 140 โครงการ ความยาวรวม 9,167 เมตร ตลอดจนงานซ่อมบำรุงโครงข่ายทางหลวงชนบททั่วประเทศและอำนวยความปลอดภัยทางหลวงชนบท เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมในการซ่อมสร้าง ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม(นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ) ที่ได้เน้นย้ำในเรื่องการนำยางพารามาเป็นส่วนผสม ในอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยให้มากขึ้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง พร้อมส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศ ซึ่งในส่วนของ ทช.ได้ร่วมกับคณะนักวิจัย จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ศึกษาแนวทางการนำยางพารามาใช้ในงานบำรุงรักษาทาง และอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ได้แก่ เสาหลักนำทาง โดย ทช.ได้ติดตั้งเสาหลักนำทาง เป็นต้นแบบ prototype แล้วที่จังหวัดตรัง รวมถึงแบริเออร์แบบ Single Slope Barrier หุ้มด้วยยางพารา หนา 2 นิ้ว ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ สามารถลดแรงกระแทกเพิ่มขึ้นได้ถึงร้อยละ 30 และคาดว่าจะลดความรุนแรงของอัตราการบาดเจ็บลงได้

ในส่วนโครงการสำคัญในปีงบประมาณ 2563 นั้น เช่น โครงการพัฒนาทางหลวงชนบทริมทะเลสาบสงขลา จังหวัดพัทลุง เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวทะเลสาบสงขลา นครศรีธรรมราช – พัทลุง – สงขลา กิจกรรมปรับปรุงผิวจราจร รวม 5 สายทาง ถนนเพื่อการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลภาคใต้ ถนนสายแยก ทล.4003 (กม.ที่ 14+350) ถึง บ้านท้องเกร็ง อำเภอสวี,ทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร ระยะทาง 9.085 กิโลเมตร และถนนสายแยก ทล.4002 (กม.ที่ 13+100) – บ้านแหลมสันติ อำเภอหลังสวน,ละแม จังหวัดชุมพร ระยะทาง 19.891 กิโลเมตร ถนนผังเมืองรวม ถนนสาย จ4 และ จ5 ผังเมืองรวมเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม ระยะทาง 3.222 กิโลเมตร และถนนสาย ง1 ผังเมืองรวมเมืองอุตรดิตถ์ ระยะทาง 7.425 กิโลเมตร