นักวิชาการแนะรู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อความอยู่รอดช่วงรอยต่อ

เมื่อการเข้ามาของเทคโนโลยี ได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ หรือหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนอย่างชัดเจน และรุนแรง มันหมายถึงแต่ละองค์กรจะต้องปรับตัว ชาลล์ ดาร์วิน นักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง เคยกล่าวไว้ว่า สิ่งมีชีวิตที่จะอยู่รอดจะต้องเป็นสิ่งมีชีวิตที่รู้จักการปรับตัว เพราะฉะนั้นในยุคนี้ถ้ารู้จักการบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการสร้างขีดความสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ก็จะเป็นผู้อยู่รอด โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสิทธิ์ เกิดศรี นักวิชาการด้านการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม วิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สะท้อนแนวคิดในเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจเรียนรู้เพื่อความอยู่รอด

รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสิทธิ์ ชี้ว่าเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกองค์กร ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาด แบบแผนการทำงานเดิมไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ หรือที่ชอบพูดกันในปัจจุบันว่าถูก disrupt ดังนั้นผู้บริหารจึงจำเป็นต้องมีการเรียนรู้วิธีการใหม่เพื่อขับเคลื่อนองค์กรให้พร้อมการเปลี่ยนแปลง คำว่า dynamic กับ disruption เป็น 2 คำ ที่เกิดจาก technological change ตัวอย่างเช่นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าหลายองค์กรขับเคลื่อนเรื่อง Digital Transformation ให้เป็นหัวใจในการดำเนินงานของบริษัท ทำให้ธุรกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งองค์กร ตั้งแต่ผู้บริหารจนถึงพนักงานระดับปฏิบัติการในตำแหน่งล่างสุด ดังนั้นการบริหารจัดการเทคโนโลยีขององค์กร เพื่อนำไปสู่การสร้างขีดความสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต จึงเป็นประเด็นสำคัญโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสิทธิ์ ให้มุมมองต่อการปรับตัวของผู้บริหารองค์กรต่อการสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ และการปรับตัวตามความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อความอยู่รอดขององค์กรในอนาคต ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ข้อหลัก คือ
1.ผู้บริหารจะต้องมีความคิดในเชิงบวก เปิดกว้างรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
2. เมื่อมีทัศนคติในเชิงบวกแล้ว ต้องมีความสามารถในการประเมินโอกาสและผลกระทบ พร้อมทั้งต้องสร้างให้เกิดการยอมรับของบุคลากร เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนองค์กรการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไปสู่อุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ หรือ นิว เอสเคิร์ป (New S-curve)
3. การขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กร จำเป็นต้องมีแผนที่นำทางยุทธศาสตร์ (Strategic Roadmap) ที่ชัดเจน เพื่อสื่อสารและนำทางไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้
4. เมื่อมีแผนที่นำทางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนแล้ว ต้องสร้างการมีส่วนร่วมของคนในองค์กร เพื่อนำพาไปสู่เจนเนอร์เรชั่นขององค์กรในยุคต่อไป
5. ผู้บริหารต้องสามารถเลือกยุทธวิธีที่เหมาะสมในการขับเคลื่อน เพื่อก้าวข้ามผ่านข้อจำกัดต่างที่องค์ยังเผชิญอยู่ เช่น ด้านความรู้และประสบการณ์ของบุคคลากร ด้านจำนวนบุคคลากร หรือ ด้านการทดลองนำนวัตกรรมไปใช้ ซึ่งแนวทางใหม่ๆนี้ เราอาจจะเคยได้ยินที่เรียกว่า Open Innovation, Corporate Venture, Sandbox, Ecosystem, Platform เป็นต้น

ในอดีตกระบวนการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมมักจะมองจากภายในองค์กร ใช้คนในองค์กรเป็นหลัก ซึ่งหลายคนเรียกว่าการบริหารนวัตกรรมแบบปิด แต่ปัจจุบันเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยน ผู้บริหารส่วนหนึ่งได้ให้ความสนใจต่อการขับเคลื่อนนวัตกรรมจากภายในและภายนอกองค์กรควบคู่กันไป ซึ่งเรียกว่าการทำนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation)เพื่อก้าวข้ามผ่านข้อจำกัดต่างที่องค์ยังเผชิญอยู่ ตัวอย่างเช่นการหาไอเดียจากภายนอกมาเสริมโดยการจัดอีเว้นท์อย่างเช่น Ideation หรือ Hackton นอกจากนี้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาบางองค์กรเริ่มทำงานกับสตาร์ทอัพ ผ่านช่องทาง StartUp Funding หรือ Corporate Venturing เพื่อที่จะผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆจากภายนอก เข้ามาเสริมในส่วนที่ธุรกิจยังขาดอยู่ รวมทั้งบางครั้งอาจจะมีการออกแบบใช้พื้นที่หรือช่วงเวลาในการทดลองนวัตกรรม (Sandbox) เพื่อทดสอบแนวคิดใหม่ๆเหล่านั้น พร้อมทั้งประเมินผลกระทบ ก่อนจะนำมาดำเนินการวางแผนในรายละเอียด หรือกำหนดเป็นนโยบายต่อไป
ถึงแม้ว่าผู้บริหารจะใช้ช่องทางจากภายนอกในการเติมเต็มดังที่กล่าว แต่นี่ไม่ใช่แนวคิดการ outsourcing การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ดังนั้นผู้บริหารยังคงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมบุคลากร เช่น มีการปรับเสริมสมรรถนะของบุคคลากร (Reskill) และปรับวางกำลังบุคลากรให้เหมาะสม เพราะเป้าหมายของการพัฒนาคือการยกระดับขีดความสามารถขององค์กรให้พร้อมรองรับกับการเปลี่ยนแปลง

บริบทของสังคมและภาครัฐกับการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมรองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐสิทธิ์ กล่าวว่า ในบริบทของสังคมก็ต้องเตรียมตัวที่จะรองรับกับการเปลี่ยนแปลง โดยเน้นที่การรับรู้และเข้าใจ เช่น ทุกวันนี้ถ้าพูดถึงโซเชียลเน็ตเวิร์ค เทรนด์ที่พูดพ่วงไปกับโซเชียลเน็ตเวิร์ค คือ privacy หรือความเป็นส่วนตัว ดังนั้นทางภาคประชาชนจึงต้องเรียนรู้และปรับตัวส่วนหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบทางด้านเทคโนโลยีเองก็เช่นกัน จำเป็นต้องเริ่มปรับวิธีคิดจากเดิมที่เป็นคนคอยควบคุมและกำกับ (Regulator) กลายมาเป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ เมื่อ IoT เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ก็จะมีคำพูดที่ว่า Data is the new oil เปรียบเสมือนข้อมูลคือบ่อน้ำมันแห่งใหม่ ทำให้หลายธุรกิจมีการเก็บข้อมูลและพฤติกรรมผู้บริโภค รวมไปถึงเทรนด์ที่เปลี่ยนไปในกลุ่มเจนเนอร์เรชั่นวาย และเจนเนอร์เรชั่นซี ที่ไม่มุ่งหวังที่จะเป็นเจ้าของสินทรัพย์เช่นยานพาหนะหรือที่พักอาศัย เหมือนยุคเบบี้บูมหรือเจนเนอร์เรชั่นเอ็กซ์ พร้อมทั้งยังทัศนคติเชิงบวกต่อการแบ่งปัน หรือที่ทุกวันนี้ที่ทุกคนมักจะพูดถึง แชริ่ง เอคโค่โนมี่ (Sharing Economy) หรือเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน ส่งผลทำให้หน่วยงานภาครัฐจะพิจารณาอำนวยความสะดวกธุรกิจหรือธุรกรรมลักษณะนี้อย่างไร โดยไม่ให้มีผลกระทบต่อมาตราฐานความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพยสินของภาคประชาชนในองค์รวม

ภาคการศึกษาเองก็ต้องปรับตัวเช่นกัน “จากเดิมทุกคนจะคุ้นชินกับการทำงานแบบ Single Job แต่ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่นิยมทำงานหลายอย่าง หรือในรูปแบบ Multiple Job เพราะมีช่องทางการทำงานมากขึ้น เนื่องจากรูปแบบธุรกิจที่ไม่เหมือนเดิม ดังนั้นเมื่องานมีความหลากหลายในการดำเนินการ มันก็ส่งผลกระทบต่อกระบวนการและวิธีคิดของการเรียนรู้ แต่ก่อนอาจจะเน้นเรียนเพื่อมุ่งโฟกัสเรื่องของดีกรี แต่เวลานี้ด้วยลักษณะงานที่เปลี่ยนไป การเรียนรู้แบบคอร์สสั้นๆ เพื่อทำงานที่ได้รับมอบหมายในช่วงๆ หนึ่งก็มีมากขึ้นตามลำดับ”

ดังนั้นเมื่อไม่สามารถหยุดการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ สิ่งที่ควรจะทำ คือ 1. ตระหนักให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง 2. วางแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ในยุคสมัยรอยต่อของแห่งการเปลี่ยนแปลง ที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นอย่าง IoT และ 5G เป็นแรงขับ องค์กรจะมีส่วนร่วมเพื่อปรับตัว และหาโอกาสจากสิ่งที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ??

หาคำตอบได้ในงาน ในงานสัมมนา THE NEXT LEVEL of Thai and Asean Automotive Logistics Forum เปิดมุมมองไปกับผู้เชี่ยวชาญและนักธุรกิจระดับแนวหน้าของเมืองไทย ในหัวข้อ Emerging Logistics Industry with IoTs (เสริมแกร่งโลจิสติกส์ด้วย IoTs) และพบกับนิทรรศการด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีแห่งอนาคต ในวันศุกร์ที่ 25 ตุลาคม 2562 เวลา 13.00 -16.30 น. ณ อิมแพคเอ็กซิบิชั่น เซ็นเตอร์ ฮอลล์ 9-10 เมืองทองธานี ลงทะเบียนเข้าร่วมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่ https://www.eventpop.me/e/6863