ได้ฤกษ์! ตอกเข็มขยายสถานี ‘สะพานตากสิน’ ปลายปี 62 ก่อสร้าง 40 เดือน รับปริมาณผู้โดยสารโต

“คมนาคม” เคาะไฟเขียวขยายสถานีสะพานตากสิน ก่อสร้าง 40 เดือน เริ่มตอกเข็มปลายปีนี้ หวังเพิ่มปริมาณรองรับผู้โดยสาร 10% พ่วงลดความถี่รถไฟฟ้าสายสนามกีฬาฯ-บางหว้า เหลือ 2.30 นาทีต่อขบวน

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการปรับปรุงสถานีสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (S6) เพื่อแก้ไขปัญหาคอขวดของรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้าว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้เห็นชอบอนุมัติแบบก่อสร้างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย BTS จะเป็นผู้ลงทุนโครงการทั้งหมด เบื้องต้นยืนยันว่าการขยายสถานีดังกล่าว จะไม่กระทบกับการใช้บริการรถไฟฟ้าของประชาชน กล่าวคือ จะไม่มีการปิดใช้สถานีสะพานตากสินในช่วงระหว่างการก่อสร้าง

ทั้งนี้ ในส่วนของงานก่อสร้างนั้น จะเริ่มขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ใช้ระยะเวลาประมาณ 40 เดือน แบ่งเป็น 1.งานขยายถนนบนสะพานตากสินเพิ่มช่องจราจร เพื่อทดแทนการเสียพื้นที่ในการก่อสร้าง ใช้ระยะเวลาประมาณ 30 เดือน 2.การก่อสร้างเสาต่อม่อสถานีบนสะพานตากสินใช้ระยะเวลาประมาณ 10 เดือน ขณะที่ขั้นตอนเสนอขออนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) นั้น คาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนปลายปีนี้ เพื่อเริ่มงานก่อสร้างโครงการดังกล่าว

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า สำหรับรายละเอียดโครงการดังกล่าว เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและเตรียมการรองรับปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากสถานีตากสิน เป็นสถานีชั่วคราวมาแต่เดิม มีลักษณะเป็นทางวิ่งเดี่ยว รถไฟฟ้าต้องจอดสับรางทุกครั้งที่จะเดินรถผ่าน ทำให้ความถี่ในการเดินรถไฟฟ้าไม่เพียงพอ จึงมีความจำเป็นต้องขยายช่องทางเดินรถบนสถานีตากสิน

โดยในการดำเนินการดังกล่าวนั้น จะต้องใช้พื้นที่บริเวณด้านในของสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินข้างละ 1.80 เมตร และขยายบริเวณด้านนอกทดแทนเป็นระยะ 2.30 เมตร พร้อมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์ใต้สถานี โดยทางสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานครจะต้องดำเนินการส่งแบบก่อสร้างส่วนปรับปรุงพื้นที่บริเวณใต้สถานีพร้อมกับแบบอาคารพักโดยสารและทางเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าสะพานตากสิน (S6) กับท่าเรือสาทรให้กรมทางหลวงชนบท (ทช.) เพื่อพิจารณาต่อไป 

ทั้งนี้ เมื่อขยายสถานีได้แล้วจะสามารถเพิ่มความถี่ของขบวนรถไฟฟ้าในเส้นทางดังกล่าวได้เพื่อรองรับปริมาณผู้โดยสารที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น คิดเป็นการเพิ่มปริมาณรองรับ 10% และลดความถี่สายสุขุมวิทลงได้อีก จากเดิมความถี่ประมาณ 2.30 นาทีต่อขบวน ขณะที่สายสีลมยังคงต้องใช้ความถี่เดิมที่ 3.45 นาที