‘ศักดิ์สยาม’ ไม่หยุดแก้ปัญหาจราจร สั่ง กทพ.-ทล. เร่งสางปมรถติดหน้าด่าน

“ศักดิ์สยาม” เร่งแก้ปัญหาจราจรติดหน้าด่านเก็บเงินทางด่วน-มอเตอร์เวย์ สั่ง กทพ. ทดลองเลิกไม้กั้นด่านอโศก 3-4 เชื่อช่วยอัพสปีดจราจรได้ พร้อมเร่งใช้ AI ตามโมเดลต่างประเทศ ฟาก ทล. เพิ่มเจ้าหน้าที่หน้าด่านฯ นำร่องด่านทับช้าง 1-2 ผุดไอเดียลดค่าผ่านทาง 10% ดึงคนใช้ช่องอัตโนมัติมากขึ้น

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางอโศก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้ใช้ทางพิเศษว่า ภายหลังการทดสอบการยกไม้กั้นแล้วนั้น ได้มีการจับเวลารถบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ พบว่า ช่องอัตโนมัติ (Easy Pass) สามารถทำความเร็วได้ 15 คัน/นาที ด้านช่องชำระเงินสดนั้น สามารถทำความเร็วได้ 12 คัน/นาที 

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ กทพ. เดินหน้าทำการทดสอบในห้องปฏิบัติการในช่วงสัปดาห์หน้า ก่อนที่จะทดสอบที่ด่านจริงในสัปดาห์ถัดไป โดยจะนำร่องที่ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษอโศก 3 (ขาออก) ช่วงเวลา 19.00-20.00 น. และด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษอโศก 4 (ขาเข้า) ช่วงเวลา 06.00-09.00 น. อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าในช่วงเวลาเร่งด่วน จะช่วยเพิ่มความเร็วให้กับผู้ใช้รถได้มากขึ้น พร้อมขอความร่วมมือ ผู้ใช้รถ ไม่ขับฝ่าไม้กั้นโดยไม่เสียค่าผ่านทาง ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่ามีผู้ไม่จ่ายเงินเพียง 0.1% เท่านั้น

“หลังจากนี้ กทพ. ต้องประสานกับกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรุงเทพมหานคต (กทม.) ตำรวจจราจร เป็นต้น ว่ามีแนวทางดำเนินการระบายการจราจรถนนด้านล่างอย่างไร” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นอกจากนี้ ในอนาคตเมื่อมีการนำเทคโนโลยีระบบนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยบริหารจัดการนั้น จะลดการใช้เงินสด และ Easy Pass โดยจะเชื่อมโยงกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ซึ่ง กทพ. จะไปทำการศึกษาและทดลองภายใน 1 ปี เนื่องจากมีตัวแบบต่างประเทศอยู่แล้ว พร้อมยืนยันว่า การใช้ระบบ AI จะต้องไม่ผูกขาดกับเอกชนรายใดรายหนึ่ง

 

***เพิ่มคนหน้าด่านมอเตอร์เวย์***

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของกรมทางหลวง (ทล.) ได้รายงานการดำเนินการตามนโยบาย ประกอบด้วย การเพิ่มเจ้าหน้าที่จัดเก็บเงินหน้าด่าน จำนวน 10 คน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับชำระค่าธรรมเนียมผ่านทาง ซึ่ง ทล. ได้เลือกด่านทับช้าง 1 และด่านทับช้าง 2 มาทดสอบ โดยได้มีการทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่จัดเก็บ การตรวจค้น แจกอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย กำหนดตำแหน่งยืนภาคสนาม และทำการประชาสัมพันธ์ผ่านแผ่นป้าย VMS และประกาศหน้าด่าน 

ทั้งนี้ ทล. ได้สรุปผลการทดสอบในภาพรวม โดยต้องปรับปรุงโปรแกรมของระบบจัดเก็บให้รองรับกระบวนการทำงานของการปล่อยเป็นขบวนร่วมกับการทำงานแบบปกติ และระบบรายงานปริมาณการจราจรและรายได้ พร้อมหาแนวทางการป้องกันรถฝ่าด่าน รองรับการแจ้งความที่น่าจะมีผู้ละเมิดมากขึ้น นอกจากนี้ ต้องจัดเตรียมพนักงาน 14 คนต่อตู้ (1 คนจัดเก็บในตู้ 1 คนหยุดรถหลังตู้ 1 คนหยุดรถหน้าตู้ 10 คนจัดเก็บ 1 คนระวังหัวขบวนและจัดการจราจร) และเตรียมทีมรับ-ส่งเงินทอนจากหน้าด่านไปให้พนักงานหน้าตู้เก็บเงิน 

ขณะที่ นโยบายการเพิ่มประสิทธิภาพช่องทางอัตโนมัติ ETC โดยการยกไม้กั้น ซึ่ง ทล.ได้ทดลองติดตั้งกล้องดูเหตุการณ์ต่างๆ ในช่องทาง (DVES) เพิ่มเติม และกล้องอ่านทะเบียน (LPR) ซึ่งได้สรุปผลจากการทดสอบ โดยต้องจัดทำระบบมีการบูรณาการข้อมูลกับกรมการขนส่งทางบก และบังคับใช้กฎหมายร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมเพิ่มบทลงโทษให้มากขึ้น เพื่อป้องกันการละเมิดกฏหมาย 

 

***เล็งลดค่าผ่านทาง 10% ดึงคนใช้ช่องอัตโนมัติ***

นอกจากนี้ ได้สั่งการในการแก้ปัญหาการจราจรหน้าด่านเก็บค่าผ่านทาง ดังนี้ 1.ระยะเร่งด่วน ได้มอบให้ ทล. ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูล ทดสอบการแก้ไขปัญหาในห้องปฏิบัติการ 1 สัปดาห์ก่อนลงพื้นที่ทดลองปฏิบัติในพื้นที่จริง 1 สัปดาห์ จากนั้นนำข้อมูลมาประมวลผล และรายงานผลการดำเนินการให้กระทรวงคมนาคม และ 2.ระยะยาว ให้ใช้เทคโนโลยีระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาใช้และพัฒนาโปรแกรม เชื่อมต่อข้อมูลกับกรมการขนส่งทางบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรม ลดอุบัติเหตุ เพิ่มความปลอดภัยอย่างยั่งยืน ซึ่งโปรแกรมจะสามารถ Check in / check out และคำนวณค่าผ่านทางได้ทันที ทั้งนี้ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี

ขณะที่ การแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณหน้าด่านทับช้าง 1 กม.51+100 นั้น นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า จากทดสอบการขายคูปองค่าผ่านทางช่องเงินสด ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่องทางอัตโนมัติแล้ว พบว่าช่องเงินสดมีผู้ใช้บริการมากกว่าช่องอัตโนมัติ ทั้งนี้ ทล. จึงได้มีแนวทางการออกมาตรการจูงใจให้ประชาชนมาใช้บริการช่องอัตโนมัติมากขึ้น โดยการลดค่าผ่านทาง 10% ซึ่งต้องหารือกับกฤษฎีกาถึงความเป็นไปได้ของมาตรการดังกล่าวก่อนว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่อย่างไร