‘เหยื่อเมาแล้วขับฯ’ ยกพลบุก ‘คมนาคม’ ค้านขยายอายุรถตู้-เปลี่ยนมินิบัสสมัครใจ พร้อมแฉ ‘ขนส่งฯ’ เปิดช่องโหว่ให้รถตู้

เครือข่าย “เหยื่อเมาแล้วขับฯ” นัดรวมพลบุกกระทรวงคมนาคม ค้านนโยบาย “ศักดิ์สยาม” ขยายอายุรถ-เปลี่ยนมินิบัสด้วยความสมัครใจ หวั่นเกิดอุบัติเหตุซ้ำรอย ชี้คุณภาพรถยังเป็นปัจจัยของอุบัติเหตุ ด้าน “ภาคีเครือข่ายลดอุบัติเหตุ” แสดงจุดยืน พร้อมยื่นข้อเสนอ 4 ข้อ

นายเจษฎา แย้มสบายประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ มูลนิธิเมาไม่ขับ เปิดเผยว่า จากกรณีอุบัติเหตุรถตู้ที่เพิ่งเกิดขึ้นรวมถึงเหตุการณ์เก่าๆ ที่มีผู้เสียชีวิตแบบน่าสยดสยอง ส่งผลให้มีมาตรการออกมาบังคับใช้ ทั้งเรื่องล็อคความเร็ว GPS ไม่เกิน 90 กม./ชม.ควบคุมพนักงานขับรถห้ามขับต่อเนื่องเกิน 8-10 ชม./วัน รวมถึงมาตรการจำกัดอายุรถตู้ห้ามเกิน 10 ปี และจะทยอยเปลี่ยนเป็นรถมินิบัสแทน แต่ในปัจจุบันพบว่า กรมการขนส่งทางบก หรือ ขบ. ได้เปิดช่องโหว่มากมาย จนทำให้ผู้ประกอบการรถตู้เอาเปรียบผู้โดยสารด้วยการลักไก่ปลดล็อคความเร็ว GPS การวิ่งทำรอบแบบไม่สนใจผู้โดยสาร และการจะมุ่งเอาแต่รายได้จึงใช้ผู้ขับขี่แบบไม่มีเวลาพัก สุดท้ายเกิดอุบัติเหตุด้วยสาเหตุซ้ำเดิม คือ หลับใน และเมาสุรายาเสพติด เกิดอุบัติเหตุมากมาย รวมถึงอุบัติเหตุเล็กน้อยซึ่งถือว่ามีจำนวนเยอะมากที่ไม่ได้เป็นข่าวให้ประชาชนรับทราบ

ดังนั้น ตนจึงขอคัดค้านนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมคนใหม่ ที่ต้องการขยายอายุรถตู้ออกไปอีก 2 ปี จาก 10 ปี เป็น 12 ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ในฐานะของผู้เป็นเหยื่ออุบัติเหตุทางถนน ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นเลย เพราะต่อให้ควบคุมคุณภาพผู้ขับขี่มากสักเพียงไหนนั้น คุณภาพและประเภทของตัวรถ ก็ยังคงมีผลมากต่อความรุนแรงในการเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้ง อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ระบุว่าสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุรถตู้โดยสารมาจากการใช้ความเร็วของผู้ขับขี่ เพราะต้องวิ่งทำรอบ หรือเป็นพฤติกรรมส่วนตัวในการขับรถเร็ว แตกต่างกับมินิบัสที่สามารถทำความเร็วหรือการแซงได้ช้ากว่ารถตู้

“อุบัติเหตุรถตู้จึงเกี่ยวข้องกับยานพาหนะโดยตรง เมื่อเกิดการชนเกิดขึ้น ถังน้ำมันและท่อน้ำมัน ซึ่งอยู่ข้างหน้าจะแตกทำให้เกิดประกายไฟลุกไหม้ ผู้โดยสารที่กำลังอยู่ในสภาพที่บาดเจ็บอยู่แล้วจึงไม่สามารถหลบหนีออกจากเปลวเพลิงได้ ขณะที่มินิบัสเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ผู้โดยสารมีโอกาสรอดชีวิตมากกว่า เนื่องจากมีพื้นที่ภายในมากกว่า จึงอยากให้กระทรวงคมนาคมทบทวนเรื่องรถตู้สาธารณะให้ดีๆ ไม่ควรมีมาตรการที่ถอยหลังลงคลอง” นายเจษฎา กล่าว

ด้านนางสาวศรีจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต และภาคีเครือข่ายลดอุบัติเหตุ กล่าวว่า เครือข่ายขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอดังต่อไปนี้ 1.มาตรการที่มุ่งเน้นลดอุบัติเหตุ ถือเป็นสิ่งที่ดีและควรดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการติด GPS เพื่อกำกับความเร็ว ชั่วโมงทำงานเกินกำหนด การตรวจวัดแอลกอฮอล์ ฯลฯ แต่มาตรการสำคัญควบคู่กัน คือ เกิดเหตุแล้วทำอย่างไรไม่เสียชีวิต ซึ่งการนำรถที่โครงสร้างแข็งแรง ไม่เกิดเพลิงลุกไหม้ง่าย สามารถช่วยเหลือผู้โดยสารได้รวดเร็ว ฯลฯ จึงเป็นคำตอบที่ไม่ควรจะมองข้าม 2.ในเส้นทางระยะไกลเช่น กทม.-ต่างจังหวัด จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีรถประจำทางและระบบกำกับที่ปลอดภัย จึงไม่ควรเลื่อนอายุใช้งานรถตู้จาก 10 ปี เป็น 12 ปี และไม่ควรเปลี่ยนเป็นมินิบัสแบบสมัครใจ มาตรการด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสารไม่ควรถูกทำให้ถอยหลัง หรือย่ำอยู่กับที่  ควรมุ่งเน้นมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการตามความเหมาะสมเป็นกรณีๆ ไปเท่านั้น

3.ควรเร่งพัฒนาระบบตรวจสอบประวัติการดูแลรักษา การเปลี่ยนอะไหล่ตามกำหนดมีมากน้อยเพียงใด มีการตรวจสภาพเข้มงวดก่อนอนุญาตอย่างเข้มงวด มีการตรวจทุก 6 เดือน รวมทั้งการสุ่มตรวจบนถนนด้วย และ 4.กำกับพฤติกรรมขับขี่ของคนขับรถสาธารณะ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ขับเร็วเร่งทำรอบ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ การพักผ่อนน้อยต้องไม่มี และเจ้าหน้าที่รัฐต้องตรวจสอบรถและคนขับรถทุกคน อย่างเข้มงวด ไม่มีการละเว้น บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารทุกคน

ขณะที่ นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สำหรับบทลงโทษผู้ประกอบการรถตู้ที่เกิดอุบัติเหตุนั้น กรมขนส่งทางบกมีแนวทางดำเนินการอยู่แล้ว ทั้งการเรียกตักเตือน การปรับ การพักใบอนุญาต และการเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งหากเรียกตักเตือนแล้วไม่ดำเนินการ ผู้ประกอบการก็จะไม่สามารถต่อทะเบียนได้ ส่วนกรณีที่เรียกร้องให้พักใบอนุญาตหรือเพิกถอนนั้น คงดำเนินการได้ยาก เนื่องจากหากพักหรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการ จะส่งผลให้รถทุกคันในวินรถตู้ไม่สามารถให้บริการได้ทั้งหมด อาจส่งผลกระทบกับผู้โดยสารในแต่ละพื้นที่ ดังนั้น การจะดำเนินการดังกล่าวต้องพิจารณาด้วยว่า ประชาชนได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน