เปิดฉาก! ประชุมนานานาชาติ ‘การบูรณาการด้านการขนส่งทางน้ำ’

“อธิรัฐ” เปิดประชุมนานาชาติทางน้ำ หนุนแนวทางพัฒนาของสหประชาชาติ ดัน จท.-กทท. บูรณาการความร่วมมือด้านการขนส่งทางน้ำ-สิ่งแวดล้อม-ความปลอดภัยทางทะเลอย่างยั่งยืน

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยกรอบงานการสนับสนุนเพื่อการพัฒนาของสหประชาติ เรื่อง การบูรณาการด้านการขนส่งทางน้ำ จัดโดยกรมเจ้าท่า หรือ จท. และการท่าเรือแห่งประเทศไทย หรือ กทท. ร่วมกับ องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) และคณะกรรมการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: ESCAP) เพื่อบูรณาการความร่วมมือ ด้านการขนส่งทางน้ำ สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยทางทะเลอย่างยั่งยืนนั้น มีวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ เป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลด้านการขนส่งทางทะเล เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำสนอกระบวนการกลไก ในการเชื่อมโยง ความร่วมมือ เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย ดูแลสิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมถึงขับเคลื่อนการดำเนินงานในบริบทการขนส่งทางทะเล ภายใต้องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ ซึ่งมีภารกิจกำหนดมาตรฐานและแนวปฏิบัติ เพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล

“การประชุมในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพ ได้นำ 2 หน่วยงาน ทั้งกรมเจ้าท่าและ การท่าเรือฯมาประชุมบูรณาการร่วมกัน เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรียนรู้ของทั้งสององค์กรนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน นำไปสู่การยกระดับมาตรฐานเกี่ยวกับทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัยหรือสภาวะแวดล้อมต่างๆอีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เพื่อให้หน่วยงานระดับนานาชาติสามารถวางแผนยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งทางทะเล ให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยประเทศไทยมีบทบาทในการริเริ่มในการประสาน ให้หน่วยงานต่าง ๆ จัดประชุมสัมมนาร่วมกันเป็นครั้งแรก” นายอธิรัฐ กล่าว

นายอธิรัฐ กล่าวต่ออีกว่า การประชุมในครั้งนี้จะส่งผลให้ประเทศไทยต่อภาพลักษณ์ส่งเสริมบริบทการเป็นผู้นำเป็นอย่างยิ่ง จะเป็นการแสดงออกถึงการปฏิบัติตามพันธกรณีในการสนับสนุน ภารกิจของ IMO และ UN โดยเฉพาะการวางยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งทางทะเลให้สอดคล้องกับเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติและเป็นการเสริมสร้างบทบาทของประเทศไทย ในเวทีนานาชาติ ซึ่งจะมีส่วน ช่วยสนับสนุนในการหาเสียงเลือกตั้งคณะมนตรีของ IMO อีกสมัย

อย่างไรก็ตาม ภายในปลายปี 2562 ประเทศไทยได้มี ส่วนร่วมในการบริหาร กำหนดนโยบาย และทิศทางของIMOได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการ การฝึกอบรม และ การยกระดับมาตรฐานและข้อบังคับภายใต้อนุสัญญาของIMOส่งเสริมการขนส่งทางทะเลของไทยให้มี ความก้าวหน้าและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจพาณิชย์นาวีและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม