มาตามนัด! ‘แท็กซี่-วินมอไซค์’ บุกขนส่งฯ หลังจ่อดัน Grab ถูกกฎหมาย ขู่! หากเงียบลุยนำแท็กซี่หมื่นคันทวงถาม

“เครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ฯ-วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง” รวมพลบุกขนส่งฯ หลังอาจดัน Grab ถูกกฎหมายเอาใจรัฐบาลใหม่ ด้าน “แท็กซี่” ขู่หากไม่ทำตามที่พูด เตรียมแท็กซี่หมื่นคันบุกทวงถาม ฟาก “กมล” ขอเวลา 2-3 เดือน พร้อมรับปากพร้อมแก้ 4 ข้อเรียกร้องจากแท็กซี่ ขณะที่วิน จยย.จี้แก้ปัญหาวิน จยย.ด้วย

นายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังเข้ายื่นหนังสือถึงนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก หรือ ขบ. เพื่อขอทราบนโยบายเเท็กซี่ในอนาคต จากกรณีที่ ขบ. จะเเก้ปัญหาเรื่องรถแท็กซี่แกร็บ (Grab) ที่ผิดกฎหมายให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อรองรับนโยบายรัฐบาลใหม่ โดยมีนายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดี ขบ. เป็นผู้รับมอบหนังสือ รวมถึงได้หารือร่วมกับอธิบดี ขบ. และ รองอธิบดี ขบ.ว่า ขบ. ยังไม่ได้คิดแก้ปัญหาเรื่อง Grab อย่างจริงจัง ก่อนหน้านี้ ขบ. ได้จ้างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ทำการศึกษาเรื่องพัฒนาระบบแท็กซี่ในไทย และแก้ปัญหา Grab แท็กซี่ ซึ่งผลการศึกษาแล้วเสร็จและมีรายละเอียดค่อนข้างมาก โดยเมื่อมีรัฐบาลใหม่และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่นั้น ขบ. จำเป็นต้องเตรียมข้อมูลการแก้ปัญหาและพัฒนาระบบแท็กซี่เพื่อรายงานให้ทราบต่อไป อย่างไรก็ตามหากมีการแก้ไขปัญหา Grab ไม่ว่ากฎกระทรวง กฎหมายต้องเชิญเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบเข้ามีส่วนร่วมการแก้ไขด้วย 

สำหรับการยื่นข้อเรียกร้อง 4 ข้อ ได้แก่ 1.หากดำเนินการในเรื่องนี้เเล้วมีผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ จะต้องมีการเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรม 2.จะต้องมีการปราบปรามรถผิดกฎหมายที่มีอยู่ในขณะนี้ให้เป็นรูปธรรม ทั้งนี้ที่ปัจจุบันมีกฎหมายแต่ยังมีผู้ฝ่าฝืนนำรถส่วนบุคคลมารับส่งผู้โดยสารทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดทั่วระเทศ 3.ให้ทบทวนนโยบายโครงการแท็กซี่โอเค (TAXI OK) เนื่องจากไม่ประสบผลสำเร็จตามที่ได้ประกาศไว้ ปัจจุบันมีแท็กซี่โอเคหลายหมื่นคัน โดยแต่ละคันมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งอุปกรณ์ส่วนควบเพิ่มเติมหลายหมื่นบาท ซึ่งสำหรับแท็กซี่โอเคมีแอพพลิเคชั่นแท็กซี่โอเคไว้สำหรับผู้ใช้บริการเรียกบริการพบว่า ไม่มีผู้โดยสารเรียกใช้บริการ จึงมองว่าปัจจุบันยังจำเป็นต้องยกเลิกแท็กซี่โอเคหรือไม่ หรือถ้าไม่ยกเลิกควรจะหาแนวทางปฏิบัติให้ได้ผลมากกว่านี้ โดยให้ผู้ใช้บริการเรียกใช้บริการผ่านแอพฯ แท็กซี่โอเคได้ โดยในวันที่ 26 มิ.ย.นี้ ทาง ขบ. ได้เชิญผู้ประกอบการแท็กซี่ในกรุงเทพฯ มาร่วมหารือการแก้ปัญหาบริการของแท็กซี่โอเคใช้งานได้เกิดประสิทธิภาพต่อไป และ 4.ต้องมีการปรับอัตราค่าโดยสารให้เป็นธรรมและสะท้อนต้นทุนที่เเท้จริง เพราะตั้งแต่มีแท็กซี่ให้บริการปี 2535-ปัจจุบัน 20-30 ปีแล้วยังไม่มีการปรับขึ้นค่าโดยสาร ยังคงใช้ราคาค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 35 บาทเหมือนเดิม จากปัญหาดังกล่าวทำให้แท็กซี่ทำงานไม่น้อยกว่า 12-14 ชม. เพื่อความอยู่รอด และทำให้แท็กซี่เกิดความไม่มีความผูกพันและไม่มั่นคงในอาชีพแท็กซี่จนต้องไปประกอบอาชีพอื่นแทน

“ทางผู้บริหาร ขบ. รับปากจะนำข้อเรียกร้อง 4 ข้อไปเสนอทางนโยบายในเร็วๆ นี้เพื่อไปสู่การปฏิบัติต่อไป คาดว่าใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนจะชัดเจน หากข้อเรียกร้องยังไม่ได้รับการแก้ไขและไม่ดำเนินการอย่างที่รับปาก เครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ประมาณ 1 หมื่นคัน จะมาทวงถามกับเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง โดยการยื่นหนังสือดังกล่าวไม่ใช่การคัดค้านนโยบายที่จะนำ Grab เข้ามาให้บริการอย่างถูกกฎหมาย แต่เป็นปัญหาที่มีมาตั้งอูเบอร์ที่นำรถผิดกฎหมายมาให้บริการ แต่ยังแก้ปัญหาไม่ได้ หากอนาคตมีการแก้ไขกฎหมายแล้วได้ผลจริงทางสหกรณ์แท็กซี่ไม่ได้คัดค้าน แต่ห่วงว่าการแก้กฎหมายที่มีผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบขอให้เครือข่ายแท็กซี่เข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพราะเกรงว่าจะแก้เพื่อตอบสนองบางสิ่งบางอย่างโดยที่ไม่นึกถึงประเทศ ประชาชน และผู้ขับรถแท็กซี่ที่ประกอบอาชีพมากกว่า 50 ปี แต่ถ้ากฎหมายแก้แล้วอนุญาตให้รถยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) หรือแท็กซี่ป้ายดำรับจ้างได้ ทางแท็กซี่ถูกกฎหมายไม่ควรจะใช้รถที่มีต้นทุนคันละ 1 ล้านกว่าบาทมาประกอบการ คงใช้รถคันละไม่เกิน 4 แสนบาทมาประกอบการเหมือนกัน รวมทั้งยินดีจะพัฒนาแอพฯ เรียกแท็กซี่มาแข่งขันด้วย” นายวิฑูรย์ กล่าว

ด้านนายกมล กล่าวว่า ขบ. ไม่ได้ระบุว่าจะรับดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่อง Grab แท็กซี่ แต่ชี้แจงไปว่าเคยศึกษาลักษณะให้ข้อมูลผ่านแอพพลิเคชัน ซึ่งมีรายงานการศึกษา หากเป็นเชิงอนาคตในรัฐบาลมีข้อมูลบ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าขณะนี้ยอมรับการบริการของ Grab ซึ่งตามที่เครือข่ายแท็กซี่ได้มายื่นข้อเรียกร้องนั้น ขบ. จะรับพิจารณาต่อไป เพราะถ้าเป็นการให้ Grab ด้วยการเรียกบริการผ่านแอพฯ ขณะนี้ถ้าไม่ใช่รถสาธารณะก็ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนอนาคตขึ้นอยู่กับทิศทางของภาครัฐเป็นหลัก หากอนาคตนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่ต้องการนำ Grab เข้าระบบอย่างถูกกฎหมายจริงนั้น ต้องมีการแก้กฎหมาย ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร เพราะต้องคำนึงถึงผู้ประกอบการแท็กซี่รายเดิมในผลกระทบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งต้องพิจารณาทุกมิติอย่างรอบด้านด้วยว่าแนวทางดำเนินการจะเป็นลักษณะไหน แต่ปัจจุบันการเรียกใช้บริการที่นำรถส่วนบุคคลมาให้บริการรับจ้างเป็นเรื่องที่ยังไม่ถูกต้อง

*** วินจักรยานยนต์รับจ้างบุกขนส่งฯ ***

นายเฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ (จยย.) รับจ้างแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังยื่นหนังสือเรื่องขอทราบนโยบายรถ จยย. รับจ้างสาธารณะ ในอนาคต ถึงนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก หรือ ขบ. โดยมีนางจันทิรา บุรุษพัฒน์ รอง อธิบดี ขบ. เป็นผู้รับมอบว่า การมายื่นหนังสือครั้งนี้ เนื่องจากกรณีที่ ขบ. จะจัดระเบียบให้แอพฯ ที่มีการรับส่งผู้โดยสารโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายจะทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ได้ยื่นหนังสือไปทางสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ ขบ. และ ตำรวจบังคับใช้กฎหมายกับวิน จยย. ที่ไม่ถูกต้องมาวิ่งรับส่งผู้โดยสาร จนทำให้ผู้ประกอบอาชีพวิน จยย. ถูกมองเป็นอาชีพที่ไม่ให้ความเป็นธรรมกับประชาชน ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวจะดำเนินการอย่างไร และมีผลกระทบกับวิน จยย. ที่มีอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ รวมทั้งหามีแนวทางดำเนินการจะเชิญผู้ขับขี่รถ จยย. มามีส่วนร่วมหรือไม่ เพราะวิน จยย. เป็นผู้ที่มีอายุมาก และมีความรู้น้อยมาให้บริการประชาชน หากแกร็บถูกกฎหมายทำให้ถูกแย่งงานและรายได้ อย่างไรก็ตามหลังจากยื่นหนังสือแล้วได้รับการชี้แจงจาก ขบ. ทำให้มีความหวัง และช่วยแก้ปัญหาให้ ทั้งนี้ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ไขปัญหาแกร็บไบค์ด้วย แต่ขณะเดียวกันไม่ได้รับการแก้ปัญหาทางสมาคมฯ อาจต้องมาทวงถามอีกครั้งต่อไป

ด้านนางจันทิรา กล่าวว่า ขบ. จะรับหนังสือได้พิจารณาต่อไป ทั้งนี้จากผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ไม่ครอบคลุมถึงการแก้ไขปัญหา Grab Bike ศึกษาแค่แท็กซี่ อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องใช้เวลา ไม่สามารถดำเนินการได้ทันที ต้องมีการวิจารณ์ และสำรวจความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสีย ก่อนที่มีการให้บริการแกร็บอย่างเสรี ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาแกร็บไบค์ปัจจุบันทาง ขบ. ได้มีการเข้าไปตรวจสอบ กำกับดูแล โดยการล่อซื้อ Grab Bike มีจำนวนมาก แต่ถ้าเป็นการจับกุมลักษณะกระทำผิดซึ่งหน้านั้น ขบ. กระทำได้ยาก เพราะรถ จยย. มีบริการใช้กันอย่าหลากหลาย และมีการทั้งคนขับและคนซื้อเหมือนกัน

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ของ ขบ. ที่มีอยู่อย่างจำกัด ประมาณ 120 คน ซึ่งอาจจะมีไม่เพียงพอต่อการให้บริการวิน จยย. ในกรุงเทพฯ ที่มีจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ขบ. พยายามให้วิน จยย. เข้ามาอยู่ในระบบ รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาส่วนหนึ่งด้วย โดยสอดส่องการให้บริการ Grab Bike แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาด้วยการทะเลาะวิวาท ควรจะแจ้ง ขบ. ให้ทราบและเข้าไปดำเนินตามกฎหมายฃ ทั้งนี้ปัญหาการแก้ไขวิน จยย. ยังมีขอบเขตพื้นที่ให้บริการ วิ่งบริการรับส่งข้ามวิน จยย. ไม่ได้ ไม่เหมือนแท็กซี่ทำให้การแก้ปัญหาแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม อนาคตจะมีการศึกษาแก้ปัญหา Grab Bike หรือไมนั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐ เพราะการศึกษาต้องใช้เวลา แต่ตอนนี้ขอแก้ปัญหาตรงนี้ก่อน เพื่อหาแนวทางอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ผู้ขับขี่วิน จยย. และใช้รถถูกต้อง