บขส. ครบรอบ 95 ปี! ทุ่ม 3 พันล้าน เช่ารถใหม่ 311 คัน ฤกษ์ดี 9 เดือน 9 รับมอบล็อตแรก 99 คัน ตั้งเป้าพลิกกำไรปี 69
บขส. ครบรอบ 95 ปี! เร่งยกระดับการให้บริการ-พัฒนาสถานี “สุรพงษ์” สั่งปรับกลยุทธ์รับรถไฟทางคู่ คาดประชาชนหันไปใช้ระบบราง ลุยเดินหน้าจัดหารถโดยสารใหม่ 311 คัน มูลค่า 3 พันล้านบาท ฤกษ์ดีรับมอบล็อตแรกวันที่ 9 เดือน 9 จำนวน 99 คัน ครบทั้งหมด ธ.ค. 68 สัญญาเช่า 5 ปี ช่วยลดต้นทุนพลังงาน 20-30% หั่นค่าซ่อมบำรุงปีละ 100 ล้าน หนุนล้างหนี้ 3 พันล้านใน 4 ปี ตั้งเป้าพลิกกำไรในปีหน้า
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในงานวันคล้ายวันสถาปนา บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ครบรอบปีที่ 95 วันนี้ (9 ก.ค. 2568) ว่า ได้มอบหมายให้ บขส. เดินหน้าในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆตามแผนพัฒนาธุรกิจของ บขส. ในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริการรถโดยสาร และการพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสาร เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการรถโดยสารสาธารณะมากขึ้น สะท้อนจากการดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2566 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลสำคัญที่สามารถบริหารจัดการไม่ให้มีผู้โดยสารตกค้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ บขส. ยังได้บริหารจัดการเดินรถ โดยการจัดหารถโดยสารใหม่จำนวนรวม 311 คัน สัญญาเช่า 5 ปี วงเงินรวมประมาณ 3,000 กว่าล้านบาท เพื่อทดแทนรถเก่าที่ใช้งานมาอย่างยาวนานกว่า 10-30 ปี พร้อมทั้งมอบหมาย ให้บขส. ปรับตัวใหม่ๆ ภายหลังโครงการรถไฟทางคู่ที่จะเริ่มดำเนินการแล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าจะดึงดูดผู้โดยสารในเส้นทางระยะไกลไปใช้บริการระบบรางมากขึ้น จึงต้องปรับกลยุทธ์ด้วยการหาเส้นทางที่จะเป็นฟีดเดอร์ เชื่อมต่อกับระบบราง และค้นหาเส้นทางใหม่ๆ ที่ระบบรางยังเข้าไม่ถึง นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะ บุกเบิกตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะการเชื่อมต่อการขนส่งผู้โดยสารกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อรองรับการท่องเที่ยวและธุรกิจข้ามแดนด้วย
บขส. กำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ เป็นองค์กรที่จิ๋วแต่แจ๋ว พร้อมเดินหน้าพัฒนา และยกระดับการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก สบาย รวดเร็ว ปลอดภัย และส่งเสริมให้เกิดการเดินทางแบบไร้รอยต่ออย่างยั่งยืน” นายสุรพงษ์ กล่าว
ด้านนายอรรถวิท รักจำรูญ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. กล่าวว่า สำหรับการจัดหารถโดยสารใหม่ จำนวน 311 คันนั้น แบ่งการส่งมอบ 4 งวด ประกอบด้วย งวดที่ 1 วันที่ 9 ก.ย. 2568 จำนวน 99 คัน, งวดที่ 2 วันที่ 9 ต.ค. 2568 จำนวน 95 คัน, งวดที่ 3 วันที่ 8 พ.ย. 2568 จำนวน 76 คัน และงวดที่ 4 วันที่ 8 ธ.ค. 2568 จำนวน 41 คัน โดยมี บริษัท อิทธิพร อิมปอร์ต จำกัด เป็นคู่สัญญา ระยะเวลาเช่า 5 ปี โดยวันเริ่มต้นของสัญญาเช่ารถ จะนับตั้งแต่วันส่งมอบรถ เช่น รับมอบงวด 1 จำนวน 99 คัน สัญญาเริ่มวันที่ 9 ก.ย. 2568 และมีอายุสัญญา 5 ปีจนสิ้นสุดสัญญา เป็นต้น
ทั้งนี้ รถโดยสาร 311 คัน แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.รถโดยสารปรับอากาศชั้น 1 VIP (ม.1 ก) ขนาด 12 เมตร จำนวน 24 ที่นั่ง จำนวน 28 คัน 2.รถโดยสารปรับอากาศ ชั้น 1 พิเศษ (ม.1 พ) ขนาด 12 เมตร จำนวน 32 ที่นั่ง จำนวน 50 คัน และ 3.รถโดยสารปรับอากาศชั้น 1 (ม.1 ข) ขนาด 12 เมตร จำนวน 36 ที่นั่ง จำนวน 233 คัน โดยการเช่าเป็นระยะเวลา 5 ปี จะครอบคลุมค่าซ่อมบำรุงทั้งหมด อย่างไรก็ตาม รถโดยสารดังกล่าว เป็นรถรุ่นใหม่เครื่องยนต์ Euro 5 ระบบเกียร์ออโต้ คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนในด้านการประหยัดน้ำมันได้ถึง 20-30% ลดภาระค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงลงได้ปีละกว่า 100 ล้านบาท และยังช่วยลดมลพิษทางอากาศได้อีกด้วย
การเช่ารถโดยสารในลักษณะนี้ทำให้ บขส.สามารถรู้ต้นทุนและกำไรที่เกิดขึ้นต่อวันได้ทันที และทำให้บริหารค่าใช้จ่ายได้ เพราะมีต้นทุนเดียวที่เกิดขึ้น คือ ต้นทุนพนักงานขับรถและบริการต่างๆ ซึ่งจากการคำนวณตัวเลขแล้ว บขส.เชื่อว่าวิธีนี้จะทำให้องค์กรมีกำไรเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 300 – 400 ล้านบาท และจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยหักลบหนี้สะสมที่มีอยู่ประมาณ 3,000 ล้านบาทลดลงต่อเนื่อง” นายอรรถวิท กล่าว
นายอรรถวิท กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน บขส.มีหนี้สะสมอยู่ที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท จากแผนดำเนินงานที่ปรับเป็นการเช่ารถโดยสารทั้งหมด และการหารายได้นอกเหนือจากการเดินรถ ทั้งส่วนของการเช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสถานีขนส่ง และบริการขนส่งพัสดุ จะทำให้ บขส.สามารถล้างหนี้สะสมที่มีอยู่ทั้งหมดได้ภายใน 4 ปีนับจากนี้ ทั้งนี้ บขส. ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มรายได้จากปัจจุบัน 1,998 ล้านบาท เพิ่มเป็น 3,500 ล้านบาท ภายใน 2 ปี โดยจะเน้นการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการเดินรถเป็น 2,500 ล้านบาท จากเดิม 1,200-1,300 ล้านบาท
ขณะที่รายได้จากสถานีในเชิงพาณิชย์จะอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านบาท และเพิ่มรายได้จากการขนส่งพัสดุภัณฑ์จาก 200 กว่าล้านบาท เป็น 500 ล้านบาท โดยมีกลยุทธ์ในการขยายจุดรับพัสดุทั่วประเทศ และพัฒนาระบบการขนส่งให้ง่ายและเข้าถึงได้มากขึ้น ด้วยบริการ “ส่งเช้าถึงเย็น ส่งเย็นถึงเช้า” ส่วนสถานะทางการเงินของ บขส. มีผลขาดทุนสะสมกว่า 3,000 ล้านบาท ปัจจุบันในปีที่ผ่านมา บขส. มีผลขาดทุนลงเหลือเพียง 170 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายที่จะพลิกกลับมามีกำไรได้ในปี 2569 จากการบริหารจัดการ รวมถึงการเปิดเดินรถโดยสารใหม่ และการขนส่งสินค้าด้วย